นครพนม-สปข.2 สร้างความพร้อมด้านการประชาสัมพันธ์รับมือภาวะวิกฤต ลดความสูญเสียและผลกระทบด้านสาธารณภัย


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เตรียมความพร้อมแห่งชาติและแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย” ตามโครงการประชาสัมพันธ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี 2564 ที่สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 จัดขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 (สปข.2) ทั้ง 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตลอดจนเครือข่ายสื่อมวลชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการสื่อในภาวะวิกฤต และแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ ก่อนที่จะมีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นและฝึกปฏิบัติการ ซ้อมแผนในภาวะวิกฤติแบบบนโต๊ะ (Table – Top Exercise) ด้วยการจำลองสถานการณ์ภาวะวิกฤต เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงวิธีและขั้นตอนการปฏิบัติ เป็นการเตรียมความพร้อม ว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณภัยแล้ว ทุกคนจะสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรวดเร็ว


นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมการประชุม ยังจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติจากนางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต ประกอบไปด้วยการปฏิบัติงานในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ การปฏิบัติงานในสถานการณ์อุบัติเหตุและอุบัติภัยร้ายแรง การปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ การปฏิบัติงานในสถานการณ์จลาจล การปฏิบัติงานในสถานการณ์ก่อวินาศกรรมหรือก่อการร้ายรวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวความคิดในเวทีเสวนา เรื่อง “ภาครัฐ – สื่อมวลชน กับการบริหารข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤต” จากผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน โดยได้ยกตัวอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ให้ทุกคนได้เห็นว่าทุกคนต้องมีการปรับตัวเองมากขึ้น เพราะในทุกวันนี้ทุกคนถือเป็นสื่อหมดแล้ว เนื่องจากมีเทคโนโลยีต่าง ๆ มาสนับสนุน มีมือถือที่พร้อมถ่ายรูปและเผยแพร่ได้ทันที ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ที่ดีจึงต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน มีแหล่งที่มาที่ยืนยันได้ จึงจะเกิดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ ต้องเป็นทั้งผู้ที่เสพข้อมูลและผู้ที่กระจายข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพราะถ้าผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย รวมถึงต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนที่จะมาร่วมกันเผยแพร่สื่อสารออกไปให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งการสื่อสารในภาวะวิกฤตระหว่างผู้นำกับประชาชนถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ยิ่งสามารถสื่อสารได้เร็วเท่าไหร่ก็จะสามารถคุมสถานการณ์ได้เร็วเท่านั้น เพราะประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและรู้เท่าทันเหตุการณ์
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล นครพนม รายงาน