ขอนแก่น(ชมคลิป)การบริหารจัดการขยะภายในโรงเรียนบ้านสองคอนศิริคุรุราษฎร์

จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2562 พบว่าขยะมูลฝอย เกิดขึ้นประมาณ 28.7 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3) โดยขยะมูลฝอยจะถูกคัดแยก ณ ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จำนวน 12.6 ล้านตัน (ร้อยละ 44) (ส่วนใหญ่เป็นขยะรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์) และกำจัดอย่างถูกต้อง 10.3 ล้านตัน (ร้อยละ 36) โดยปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกจัดการดังที่กล่าวมาข้างต้นมีสัดส่วนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 11
เมื่อเป็นเช่นนี้หลายหน่วยงานต่างรณรงค์ให้มีการกำจัดขยะ โดยจัดทำถังขยะแบบแยกตามขยะที่จะทิ้ง อย่างเช่นขยะที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ หรือที่เรียกว่ารีไซเคิล ขยะที่เป็นพิษ ขยะที่ย่อยสลายได้ เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์

ที่โรงเรียนบ้านสองคอนศิริคุรุราษฎร์ ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ทางโรงเรียนโดยการบริหารของนายคำภา โสโท ผู้อำนวยการฯ ได้ให้ความสำคัญในการกำจัดขยะภายในโรงเรียน โดยการให้ครูมอบหมายให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เป็นพี่เลี้ยงรุ่นน้อง จัดให้มีการทำความสะอาดในเขตที่รับผิดชอบของแต่ละชั้นเรียน โดยจะแบ่งหน้าที่ตามอาคารเรียน จากนั้นก็นำมาทิ้งในถังขยะที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ โดยแยกขยะตามถังคือ ขยะเป็นพิษ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะเปียก เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ แล้วก็ขยะที่เรานำไปทิ้งแล้วจะมีคณะกรรมการมาดูแลขยะ นำขยะไปคัดแยกอีกครั้งหนึ่ง อันไหนที่นำไปใช้ได้เราก็จะคัดแยกไว้ ส่วนไหนที่ใช้ไม่ได้เราก็จะเก็บใส่ถุงเตรียมไว้ให้รถบริการ ซึ่งทางอบต.บ้านขามก็จะมีรถมาเก็บขยะทุกวันพุธ และวันศุกร์ สัปดาห์ละสองครั้ง

นั่นก็เป็นเสียงของท่าน ผอ.คำภา โสโท ที่ให้แนวทางและแนวคิดในการบริหารจัดการเรื่องขยะภายในโรงเรียน
ทางด้าน เด็กชายอชิรวิทย์ เนตรสุภาพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นประธานนักเรียน ได้กล่าวถึงการกำจัดขยะภายในโรงเรียนอย่างเป็นระบบว่า คณะกรรมการสภานักเรียนมีทั้งหมด 4 คน จะแบ่งหน้าที่ให้บอกน้องๆ ช่วยกันเก็บขยะตามบริเวณที่ได้รับผิดชอบ ซึ่งน้องคนไหนไม่เก็บก็จะเก็บทำเป็นตัวอย่างให้น้องทำตาม เพื่อนำไปทิ้งยังถังขยะที่การจัดวางไว้ 3 จุด ภายในโรงเรียน จากนั้นก็จะทำการคัดแยกส่วนขยะรีไซเคิลก็จะนำไปทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ หรือสิ่งของที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่ขายได้ก็จะนำไปขายเพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการซ่อมแซมห้องน้ำของโรงเรียน

ในขณะเดียวกันคณะกรรมการตามจุดต่าง ๆ จะออกเดินตรวจสอบ ว่าแต่ละจุดได้มีการทำความสะอาดเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นก็จะนำผลการตรวจสอบมารายงานหน้าเสาธง ให้นักเรียนทุกคนได้รับทราบทุกวัน

เมื่อแยกขยะแล้ว ส่วนหนึ่งของการกำจัดขยะ ก็จะสามารถนำไปจัดการได้โดยการฝังกลบจนเกิดเป็นก๊าซชีวภาพนำไปปั่นไฟได้ อย่างที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งได้มีการจัดการขยะแล้วนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้ โดยการดูงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ หรือ Waste Side Story จัดโดย ศูนย์ข่าวพลังงาน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562

และสิ่งที่สำคัญที่สุดของการกำจัดขยะ นั่นก็คือ “การคัดแยกขยะ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการขยะ ซึ่งก็ต้องเริ่มจากความรู้ความเข้าใจ อย่างการสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็กๆ ตั้งแต่เยาว์วัย เป็นการสร้างวินัย สร้างความรับผิดชอบ ในการจัดการขยะที่เกิดขึ้นทุกวันจากนน้ำมือของมนุษย์เรา อย่างน้อยก็เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับน้อง ๆ หนู ๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านสองคอนศิริคุรุราษฏร์อีกด้วย