สวนสัตว์ขอนแก่น จัดโปรโมชั่นส่วนลดค่าบัตรผ่านประตู 50% สำหรับเด็กๆชาวไทย ต้อนรับปิดเทอม พร้อมชมความน่ารักของแรดขาว “ฮีโร่” กับ “อาช่า” และเหล่าสัตว์ป่านานาชนิด
นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมภาคเรียนฤดูร้อนนี้ทางสวนสัตว์ขอนแก่น ได้ดำเนินการจัดโปรโมชั่นส่วนลดค่าบัตรผ่านประตูเข้าชมสวนสัตว์ 50% สำหรับเด็กๆชาวไทย ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 10 เมษายน 2567 เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถพาบุตรหลานและสมาชิกในครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันภายในสวนสัตว์ขอนแก่น ผ่านการท่องเที่ยวชมเหล่าสัตว์ป่านานาชนิด อีกทั้งทางสวนสัตว์ขอนแก่นยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมความน่ารักของแรดขาว “ฮีโร่” เพศผู้ กับ “อาช่า” เพศเมีย คู่จิ้นคู่ใหม่ของทางสวนสัตว์ขอนแก่น ณ ส่วนจัดแสดงแรดขาว สถานีคนชอบแรด ภายใน Zoo Zone สวนสัตว์ขอนแก่น ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการเทียบคู่ เพื่อเตรียมเพาะขยายพันธุ์แรดขาวต่อภายในอนาคต และถือว่าการเทียบคู่ยังเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติในจับคู่ผสมพันธุ์ของขาวและยังภาพที่หาชมได้ยากตามธรรมชาติอีกด้วย
“อาช่า” แรดขาวเพศเมียเป็นสมาชิกใหม่ของสวนสัตว์ขอนแก่น ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อนำเพาะขยายพันธ์ ระหว่าง “สวนสัตว์สิงคโปร์” กับ “องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา “อาช่า” แรดขาวเพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 ปัจจุบันอายุ 8 ปี เดิมอยู่ภายใต้การดูแลของสวนสัตว์สิงคโปร์ ก่อนจะย้ายมาอยู่ภายใต้การดูแลของสวนสัตว์ขอนแก่น เพื่อเตรียมนำมาเทียบคู่ในการเพาะขยายพันธุ์แรดขาวต่อไปในอนาคต (แรดขาว ถูกจัดให้เป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรองลงมาจากช้าง เพราะสามารถมีขนาดความยาวของลำตัวได้ถึง 3.6 – 5 เมตร , ความสูง 1.6 – 2 เมตร และ มีน้ำหนักประมาณ 2.3 – 3.6 ตัน เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแรดขาวคือ มีผิวสีน้ำตาลอมเทาหรือเหลือง มี 2 นอ ความยาวของนอสามารถมีขนาดใหญ่ที่สุดและอาจจะมีความยาวได้ถึงประมาณ 1.5 เมตร แรดขาวเมื่ออายุได้ประมาณ อายุ 7 – 10 ปี จะเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนของทุกปี หลังจากสิ้นสุดฤดูผสมพันธุ์แรดขาวเพศเมียจะตั้งท้องนานประมาณ 18 เดือน เพื่อให้กำเนิดลูกแรดขาว โดยแรดขาว 1 ตัว สามารถอายุยืนได้ประมาณ 40 – 50 ปี และมีถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติการกระจายพันธุ์บริเวณทวีปแอฟริกาตอนใต้ สามารถพบได้ตั้งแต่ซูลูแลนด์ ถึงอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ในแอฟริกาใต้ และยังสามารถพบได้ใน ซูดานตอนใต้, ยูกันดา และ บริเวณใกล้ ๆ กับประเทศคองโก)