กาฬสินธุ์ (ชมคลิ) ปปท.เขต 4 ชง ศอตช.สางปัญหารับเหมา7 ชั่วโคตร

ปปท.เขต 4 ชง ศอตช.สางปัญหารับเหมา7 ชั่วโคตร ธรรมาภิบาลระบุมี 10 โครงการมูลค่ากว่า 500 ล้าน  เรียกร้อง กรมโยธาธิการ-รับเหมา จบปัญหาด่วนก่อนบานปลาย

ปปท.เขต 4 ขอนแก่น สายตรงถึงศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ดึงสางปัญหางานรับเหมา 7 ชั่วโคตร พร้อมตั้งกรรมการ ปปท.เขต 4 ชุดใหญ่สอบเชิงลึก สรุปเหตุผิดปกติในการก่อสร้าง ด้านธรรมาภิบาล แฉรับเหมาทำเมืองกาฬสินธุ์เสียหาย ระบุรับงานตรงจากกรมโยธาฯ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท รวม 10 โครงการ เรียกร้องนักการเมืองช่วยแก้ไขตรวจสอบ ขณะที่โยธาธิการจังหวัด แจงโครงการทุกอย่างดำเนินการโดยกรมโยธาฯ และได้ผู้รับเหมาจากส่วนกลาง

จากกรณี คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ปปท.เขต 4 ลุยสอดส่องสืบโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองงบ 148 ล้านบาท “สร้าง 7 ชั่วโคตรยังไม่เสร็จ” ร้องเรียนหลายครั้งแล้วก็ยังไม่สร้างต่อ แม้กรมโยธาฯขยายเวลาให้จนใกล้ครบสัญญาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องตลิ่งริมแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน ด้านชาวบ้านแฉซ้ำตั้งแต่ร้องเรียนทั้ง 2 โครงการ ไม่เคยเห็นบริษัทรับเหมามาทำงานก่อสร้างต่อ ทำให้เกิดปัญหาสะสมเรื้อรังมานานกว่า 5 ปี ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังยับกว่า 750 ล้านบาท นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สอดส่องของคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ยังได้พบอีก 8 โครงการที่มาในลักษณะเดียวกัน งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งทำงานล่าช้า เกินกำหนดในสัญญาและมีการเบิกจ่ายไปบางส่วน ในขณะที่ผู้รับเหมากว่า 50 ราย และชาวบ้าน ผู้ประกอบการ เตรียมตบเท้าแจ้งความเอาผิดบริษัทใหญ่ และวอนกรรมาธิการ ปปช.-ปปง.สภาผู้แทนราษฎร อภิปรายปัญหานี้ในสภาฯ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 26 มีนาคม 2567 ปัญหาการก่อสร้างในโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ยังคงสร้างความหนักใจให้กับประชาชน ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้จุดก่อสร้าง ไม่มีความสุขทั้งกายและใจ แม้แต่บริเวณแก่งดอนกลางศูนย์สาธารณะ ที่เคยไปออกกำลังกายก็ถูกรับเหมาเปิดพื้นที่ก่อสร้างแต่สร้างไม่เสร็จ ที่ยังคงอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากไม่มีสภาพคล่องทางการเงินแล้วไปรับงานรับเหมามาทำเพื่ออะไร ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้รับการเปิดเผยมา 8 โครงการ มูลค่างบประมาณกว่า 400 ล้านบาท บางโครงการก็ยังไม่ลงมือก่อสร้าง อีกทั้งจำนวนนี้เริ่มงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2562 และเริ่มกลายเป็นกระแสไวรัลที่ประชาชนเรียกร้องให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ออกมารับผิดชอบและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ (อดีตสมาชิกวุฒิสภากาฬสินธุ์) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สอดส่องโครงการรับเหมาก่อสร้าง ระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ร่วมกับ ผอ.ปปท.เขต 4 และคณะซึ่งยังมี ผอ.ปปช.จ.กาฬสินธุ์ เข้าติดตามรับฟัง เมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ตนเห็นความไม่ปกติหลายประเด็น เป็นความจริงที่เกิดขึ้นมานาน เพราะทำงานไม่ต่อเนื่อง พบเห็นผู้รับเหมาที่มาทำงานรับช่วงเปลี่ยนเจ้าไปเรื่อย จึงไม่มีความคืบหน้าตามที่ควรจะเป็น ชี้ให้เห็นความไม่ปกติในกระบวนการก่อสร้างทั้งหมด เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลถึงปัจจุบันหลังมีการขยายเวลา ล่วงเลยมากว่า 1,3000 วันแล้วงานก็ยังไม่เสร็จ ส่งผลกระทบรอบด้านอย่างที่รู้เห็นเป็นอยู่ การก่อสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน ผู้รับเหมาต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ จากข้อมูลทราบว่าเป็นบริษัทใหญ่ มีศักยภาพในการทำงานสูงมาก แต่จากผลงานที่มาทำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ กลับทำให้ชาวกาฬสินธุ์ทุกคนรู้สึกผิดหวัง ทุกวันนี้เกิดปัญหากระทบมากและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ  เพราะไปขุดเจาะหน้าบ้าน หน้าร้านค้าสถานประกอบการ และปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น มันก็เป็นปัญหาสะสมตามที่เห็น แต่ผู้รับเหมาตัวจริงก็ยังไม่ขับเคลื่อนอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันเลย

“จากการลงพื้นที่สอดส่องได้ข้อมูลจากผู้รับเหมารายย่อยที่เข้ามาทำงานให้กับผู้รับเหมารายใหญ่ว่า ยังมีอีก 8 โครงการที่เหมือนเก็บซ่อนไว้ ซึ่งคณะกรรมการธรรมภิบาลฯก็ได้ตรวจสอบ ทำให้รู้ว่าโครงการที่กรมโยธาฯจัดมาลงจ.กาฬสินธุ์ทั้งหมด 10 โครงการ งบประมาณไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้จะได้ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลอย่างระเอียด เพื่อรายงานต่อ ปปท.และหน่วยงานตรวจสอบอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ตามที่สอดส่องดู 2 โครงการคือก่อสร้างระบบประปาและสร้างเขื่อนตลิ่งแก่งดอนกลาง หากจะดูในเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างก็คงจะไม่ได้  เพราะขาดองค์ประกอบหลายอย่าง ที่พบเห็นแล้วก็คือก่อนหน้าและหลังจากคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ และคณะ ปปท.ลงพื้นที่ก็ยังเป็นเช่นเดิม ไม่เห็นทำงานต่อ มันคืออะไร ที่เห็นและเป็นอยู่จึงส่อความไม่ปกติ ส่วนราชที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการเข้มงวดกว่านี้ มากกว่าที่จะขยายระยะเวลาการก่อสร้างด้วยการต่อสัญญาให้ และไม่มีการปรับค่าเสียหายอะไรเลย”

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทุกโครงการที่กรมโยธาฯ จัดสรรมาลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เป็นโครงการพัฒนาเมือง แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกลับเป็นว่าทำให้ จ.กาฬสินธุ์ได้รับความเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจทรุดพัง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังไม่ขับเคลื่อนอะไรเลย เรื่องที่เกิดขึ้น ตนมองว่าน่าจะเกิดจากระบบโครงสร้างของส่วนกลาง นักการเมืองต้องลงมาช่วยกันกระตุ้น ต้องให้มีการแก้ไขเป็นระบบมีระเบียบตามกฎหมายก่อสร้าง ในส่วนการดำเนินการโครงการที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้มีการกระจายอำนาจและสิทธิการบริหารจัดการงบประมาณ จากส่วนกลางมาสู่ภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำอีก

ด้านนายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการทั้งหมดกรมโยธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการ และเป็นคู่สัญญากับบริษัทรับเหมา ซึ่งนำโครงการมาลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ก่อนที่ตนจะมาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ในส่วนโยธาธิการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับงานโดยตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมาตนไม่เคยตรวจรับงานแม้แต่ครั้งเดียว ในส่วนที่มีข้อมูลมีการตรวจรับและเบิกจ่ายตามงวดงานนั้น เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะมาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สำหรับโครงการต่างๆ ที่เป็นประเด็นผู้รับเหมาทำงานล่าช้าและมีการต่ออายุสัญญานั้น ก็เป็นในส่วนของกรมโยธาฯ กับทางบริษัทผู้รับเหมา อย่างไรก็ตาม ตนกำลังให้เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสืบค้นข้อมูลว่า ทั้ง 8 หรือ 10 โครงการ รวมกับโครงการที่ดำเนินการในส่วนของการป้องกันตลิ่งภายในตัวเมืองกาฬสินธุ์และแม่น้ำชีนั้น บริษัทไหนเป็นคู่สัญญากับกรมโยธาฯ บ้าง ซึ่งกำลังดำเนินการสืบค้นอยู่ ยืนยันจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่

ขณะที่ด้าน นายจิรวัฒน์ สุภาพ ผอ.ปปท.เขต 4 กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ได้รับการประสานจากคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่สอดส่องโครงการก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมฯ และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรก และเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น เพราะวันนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังไม่มีเอกสารโครงการหรือรายละเอียดโครงการอะไรชี้แจงต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ และคณะ ปปท. แต่จากการลงพื้นที่ พูดตรงๆว่าตนและคณะพบความผิดปกติจากการก่อสร้าง ซึ่งผู้รับเหมาที่ลงมือทำงานแล้ว ควรจะทำได้ดีและได้ปริมาณงานที่มากกว่านี้

“เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.67)  ตนจึงได้ทำหนังสือถึงศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไปก็จะได้จัดเจ้าหน้าที่ ปปท.ชุดใหญ่ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์  เพื่อทำการตรวจสอบเชิงลึกทุกโครงการ ทุกกระบวนการ   เช่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีการละเว้นหรือเปล่า โดยจะเข้าไปดูในส่วนของการตรวจรับงาน การเบิกจ่าย การต่อสัญญา รวมระยะเวลากว่า 1,000 วัน การไม่เสียค่าปรับ ทั้งๆที่เกินกำหนดอายุสัญญา ที่ถือเป็นเรื่องไม่ปกติและกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้” นายจิรวัฒน์ กล่าวในที่สุด