หนองบัวลำภู (ชมคลิป) ผ้าขาวม้าพาดบ่า มาเอาบุญคูณลาน สืบตำนานพระแม่โพสพ

หนองบัวลำภู โชว์ Soft Power ชุมชนคุณธรรมวัดพรหมวิหาร สืบสานอนุรักษณ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น หลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมที่ดี และความเป็นไทย ภายใต้กิจกรรม”ผ้าขาวม้าพาดบ่า มาเอาบุญคูณลาน สืบตำนานพระแม่โพสพ”

เมื่อวันที่ 2 มค.67 ภายในวัดพรหมวิหาร บ้านฝายหิน ต.โนนม่วง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ชุมชนคุณธรรมวัดพรหมวิหาร นำโดยพระครูโฆสิตพรหมวิหาร เจ้าอาวาสวัดพรหมวิหาร ปิ้งไอเดียโชว์พลัง Soft Power อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีคนท้องถิ่น”ผ้าขาวม้าพาดบ่า มาเอาบุญคูณลาน สืบตำนานพระแม่โพสพ” ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานมรดกภูมิปัญญาและคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมที่ดี และความเป็นไทย
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในงานจะเน้น อัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของชุมชนไม่ว่าจะเป็นการนุ่งห่มและสวมใส่ผ้าพื้นเมือง โดยใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่าในการทำกิจกรรม นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการนวดข้าวเปลือกเพื่อสืบสานอัตลักษณ์ของคนในสมัยโบราณ พิธีบายศรีสู่ขวัญข้าวบูชาพระแม่โพสพที่นับวันจะสูญหายไปจากสังคมเกษตรกรรมยุคใหม่ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการละเล่นกลองยาวอิสานเสียงพิณซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้าน และศิลปะการแสดงประยุกต์ของนายสมาน นามวงศ์ อายุ 62 ปีชาวบ้านฝายหิน ซึ่งเป็นตัวเอกกลองยาวอิสานเสียงพิณโชว์”หุ่นกระบอกสาวน้อยรำซิ่ง”ที่เล่นมาแล้ว 20 กว่าปีมากกว่า 300 ครั้งแบกน้ำหนักมากกว่า 40 กิโล.
ในขณะที่ พระครูโฆสิตพรหมวิหาร เจ้าอาวาสวัดพรหมวิหาร กล่าวว่ากิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนของประเพณีคนอีสานอีต 12 คลอง 14 โดยนำเอา“ผ้าขาวม้า ผืนผ้าที่มีความน่าสนใจในตัวเองหลายมิติ นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ใช้ในชีวิตประจำวัน ในพิธีกรรมหรือนำมามอบเป็นของขวัญ อีกทั้งต่อยอดตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ้าขาวม้าสามารถนำกลับมาใช้ซํ้า ใช้ใหม่ ซึ่งช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเป็น Soft Power บอกเล่าผ่านผืนผ้าขาวม้าซึ่งร่วมส่งเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมฯ”อันเป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัด เป็น Soft Power ของจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชนในพื้นที่

ในขณะที่ บุญคูณลาน” เป็นการสู่ขวัญข้าวชาวอีสาน หวังสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าวอันหลากหลาย โดย คำว่า “คูณ”หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า “ลาน”คือ สถานที่กว้างๆ สำหรับนวดข้าว ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูณลาน” บุญคูณลานจัดขึ้นในเดือนยี่ตามปฏิทินอีสานของทุกปี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาน “บุญเดือนยี่”ซึ่งการทำบุญคูณลานของแต่ละพื้นที่จะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร
สำหรับการประกอบพิธีบุญคูณลานที่วัดพรหมวิหาร ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกที่มัดเป็นฟ่อนมารวมกันเป็นลอมในลักษณะรูปร่างคล้ายเจดีย์ แต่ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพโดยมีเครื่องประกอบพิธี และบอกกล่าวแม่โพสพ แล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอมข้าวออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง ก่อนขนขึ้นยุ้งเจ้าของจะต้องไปเก็บเอาใบคูณและใบยอเสียบไว้ที่เสายุ้งข้าว ทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ค้ำคูณยอ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย

โดยมีนายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมด้วย พระครูปริยัติโชติการ เจ้าคณะอำเภอศรีบุญเรือง พระครูโฆสิตพรหมวิหาร เจ้าอาวาสวัดพรหมวิหาร และคณะสงฆ์ทุกรูป นางกรรญา ศูนย์คำ วัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู นายสุรพล มิ่งชัย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดหนองบัวลำภู นายชยานันท์ เกตเมฆ รององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู นายสมยศ อุประประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู
นางศรัณยา สุวรรณพรหม ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนม่วง นางบัวแพง มุกขะกัง ส.อบจ.หนองบัวลำภู เขต อ.ศรีบุญเรือง นายอี๊ด รัศมีเดือน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีบุญเรือง หัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน ผู้บริหารสถานศึกษา ประชาชนชาวบ้านฝ่ายหิน บ้านหนองแวงพัฒนา บ้านวังหินทอง และบ้านโนนทรายทอง ตลอดจนพี่น้องชาวจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมงานกันอย่างคึกคัก

สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์ ภาพและข่าว ผสข.หนองบัวลำภู