ขอนแก่น – พ่อเมืองหมอแคนบวงสรวงพระธาตุขามแก่น เพื่อสิริมงคลในเทศกาลงานไหมฯ

 

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีบวงสรวงองค์พระธาตุขามแก่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น เนื่องในเทศกาลไหมนานาชาติประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟต์เพาเวอร์ ประจำปี 2565 โดยมีพระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายชินกร แก่นคง นายอำเภอน้ำพอง  และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมในพิธี

เทศกาลงานไหมฯ เป็นงานประจำปีของจังหวัดขอนแก่น ได้กำหนดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายน จะมีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์ประจำจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นสิริมงคลในการจัดงาน พระธาตุขามแก่นเป็นจุดแรกในการประกอบพิธีบวงสรวง และจุดที่สองคือ ศาลหลักเมืองขอนแก่น จุดที่สามคือ พระบรมราชาอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5  จุดที่สี่คือ พระธาตุศิโรดมขอนแก่น จุดที่ห้าคือ อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ และจุดที่หกคือ ศาลเทพารักษ์ (ข้างโรงช้าง)

พระธาตุขามแก่นตั้งอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดฉัตรทองคำสูง 19 เมตร พระธาตุขามแก่นมีตำนานเล่าขานกันว่า คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า จากเมืองโมรีย์ (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) นำโดยกษัตริย์เจ้านครโมรีย์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์ ได้เดินทางเพื่อนำพระอังคารธาตุไปบรรจุในพระธาตุพนม ซึ่งระหว่างนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ระหว่างทางได้แวะพักในบริเวณดอนมะขาม อันที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือเพียงแก่นและได้นำพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นมะขามนั้น รุ่งเช้า จึงเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป

เมื่อไปถึงปรากฎว่า พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงต้องนำพระอังคารธาตุ กลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปยังนครโมรีย์ของตนตามเดิม เมื่อกลับมาถึงดอนมะขามที่เคยพักแรม ได้เห็นมะขามต้นที่ตายเหลือแต่แก่น กับฟื้นคืนชีวิตแตกใบเขียวชะอุ่ม น่าอัศจรรย์ จึงพร้อมใจกันสร้างพระธาตุครอบต้นมะขามและบรรจุพระอังคารธาตุไว้และพระพุทธรูปบรรจุไว้ภายใน และให้นามว่า “พระธาตุขามแก่น” พร้อมทั้งสร้างวัดเป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ เคียงคู่องค์พระธาตุ พร้อมสร้างบ้านเรือน ปักถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย