กาฬสินธุ์(ชมคลิป)ปราชญ์เกษตรสร้างครัวอาหารบรรเทาเดือดร้อนสู้ภัยโควิด


ชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ แห่จับปลา และหาอาหารธรรมชาติ ลดความเสี่ยงจากการเข้าตลาดสด ที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ด้านปราชญ์เกษตรชาวตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ปลูกดอกกระเจียวหวาน และทำเกษตรผสมผสาน เป็นครัวอาหารเป็นต้นแบบให้กับแรงงานคืนถิ่นและจำหน่ายในชุมชน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดและสู้ภัยโรคติดเชื้อโควิด-19
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งล่าสุดพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 1 ราย มีผู้ป่วยสะสมยืนยันในรอบที่ 3 จำนวน 85 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหายแล้ว 45 ราย ส่งผลให้ประชาชนดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อ โดยออกหาจับปลาตามแหล่งธรรมชาติ และอาหารตามฤดูกาล รวมทั้งการปลูกดอกกระเจียวหวาน ผักสวนครัว เพื่อการยังชีพในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน ลดความเสี่ยงได้รับเชื้อจากการไปซื้อตามตลาดสดหรือตามตลาดนัดทั่วไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พบกับนายทองอินทร์ ภูมิช่อ ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรผสมผสาน บ้านเชียงงาม หมู่ 22 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้นำผลผลิตจากสวนเกษตร เช่น มะม่วง ดอกกระเจียวหวาน ขมิ้น และผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา อาทิ ตะกร้า กระเช้า ไม้กวาด มาวางจำหน่าย ที่ริมถนนเข้าสู่ตัวเมืองกาฬสินธุ์ ด้านหน้าศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชุมชนหรือสวนเกษตร
นายทองอินทร์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป โดยเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามถึงแม้การระบาดในรอบที่ 3 มีผู้ป่วยยืนยันจำนวน 85 ราย แต่ก็อาการหายดีแล้ว 45 ราย ต้องขอชื่นชมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ โดยการนำของนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ รวมทั้ง นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรพยาบาลกาฬสินธุ์ และกรรมการทุกฝ่าย ที่ร่วมกันกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื้อไม่กระจายในวงกว้าง เนื่องจากพบผู้ได้รับเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ภายในครอบครัวและคนใกล้ชิดเท่านั้น โดยประกาศมาตรการทางสังคม ปิดสถานประกอบการ และห้ามไม่ให้ทำการจัดกิจกรรมบางประเภท ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวมทั้งจัดหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และตั้งจุดคัดกรองตามสถานที่ต่างๆ
นายทองอินทร์ กล่าวอีกว่า ผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะการปิดสถานประกอบการ และการปิดตลาดนัด ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ในชุมชนที่มีผู้ได้รับเชื้อและมีกลุ่มเสี่ยงสูง ทำให้ไม่มีการเปิดตลาดนัด หรือไม่มีพ่อค้า แม่ค้า นำอาหารไปจำหน่าย ชาวบ้านจึงต้องออกหาอาหารตามแหล่งธรรมชาติและอาหารตามฤดูกาลเพื่อที่จะได้อาหารไปหล่อเลี้ยงสมาชิกในครัวเรือน ขณะที่ตนได้ปลูกดอกกระเจียวหวาน ควบคู่กับการเกษตรผสมผสานที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 20 ปี เพื่อนำผลผลิตเป็นอาหารและจำหน่ายในชุมชน
นายทองอินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แปลงเกษตรหรือศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานของตน พื้นที่ประมาณ 8 ไร่ มีการปลูกไม้ผล ปลูกผักสวนครัว ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และยังมีเครือข่ายประดิษฐ์เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาจำหน่ายเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว หรือคณะที่เดินทางมาอบรมและศึกษาดูงาน ทั้งนี้เคยมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในสวนและเครื่องจักสานตลอดปี แต่พอเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบ คือไม่มีคณะเดินทางมาอบรมและศึกษาดูงาน ยอดจำหน่ายสินค้าจึงลดลงเป็นอย่างมาก แต่ที่พอจะจำหน่ายได้เรื่อยๆคือผลผลิตจากสวนเกษตร
“ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังกล่าว ทำให้รู้ว่าการทำเกษตรและคนขยันเท่านั้น ที่จะเอาตัวรอดได้ ถึงแม้จะปิดตลาด ไม่มีพ่อค้าเร่หรือพ่อค้าในเมืองเอาอาหารมาขายให้ แต่เราก็มีอาหารรับประทานในครัวเรือนอย่างไม่ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในรอบที่ 3 นี้ สวนเกษตรของตนจึงเหมือนเป็นโรงครัวของชุมชน และเป็นต้นแบบของการสร้างครัวอาหารให้กับแรงงานคืนถิ่น เพื่อประกอบอาหารในครัวเรือน และหากได้ผลผลิตจำนวนมาก ก็แบ่งขายในชุมชน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะขาดแคลนอาหาร ในช่วงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี” นายทองอินทร์กล่าวในที่สุด