รองพ่อเมืองศรีสะเกษ เปิดงานวันสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แปรรูป ผลิตผลและสินค้าเกษตรปลอดภัย


เมื่อเร็วๆนี้ ที่บ้านหนองขาม หมู่ที่ 6 ต.สะพุง อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมงาน “วันสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แปรรูป ผลิตผลและสินค้าเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมี นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายภัทรนันท์ บุญมานัด นายอำเภอศรีรัตนะ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
นายอนุรัตน์ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ โดย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แปรรูป ผลิตผลและสินค้าเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจกรรมส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้หลังฤดูทำนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหลังฤดูทำนา และเพื่อให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพในการผลิตสินค้า ลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ
ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาทั้งหมด ประมาณ 30,000 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 30,000 ตัน จึงจำเป็นต้อง ดำเนินการถ่ายทอดความรู้การปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาให้แก่เกษตรกร เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านผลผลิตของเกษตรกรอันเกิดจากขาดความรู้และประสบการณ์ในกระบวนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเกษตรกร เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพที่มั่นคง จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ซึ่งปัจจุบันพบว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ที่มีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณปีละ 8 ล้านต้น ในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน จึงทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นจำนวนมาก
การจัดงานดังกล่าวจึงเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาให้แก่เกษตรกร และผู้สนใจ ได้นำไปปรับใช้และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตของตนเอง โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมการจัดงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การถ่ายทอดความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 3 ฐานเรียนรู้ การแสดงและจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การจัดนิทรรศการให้ความรู้และบริการทางการเกษตรจากส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ และหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง พร้อมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง.

พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา ศรีสะเกษ // รายงาน