ปภ.ศรีสะเกษ เผย ฝนตกหนักอ่างเก็บน้ำเกินความจุล้นสปรินเวย์แล้วแห่ง ขณะที่ ผู้ว่าฯศรีสะเกษ สั่งทุกอำเภอเฝ้าระวังพร้อมให้ความช่วยเหลือ 24 ชม.
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีพายุฝนตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังระบายไม่ทันหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.ขุนหาญ มีน้ำท่วมขังบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ ครูและนักเรียนได้ช่วยกันนำกระสอบทรายมาปิดกั้นบริเวณหน้าประตูรั้วโรงเรียนเพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่านเข้าท่วมอาคารเรียน ส่วนที่อ่างเก็บน้ำหนองสิ อ.ขุนหาญ ขณะนี้น้ำได้เอ่อล้นสปรินเวย์แล้ว
นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำเก็บกักเกินกว่าความจุ 100 เปอร์เซ็นแล้วจำนวน 5 แห่ง คือ อ่างฯห้วยน้ำคำ อ.เมืองศรีสะเกษ 102.02% อ่างฯห้วยตาจู อ.ขุนหาญ 102.03% อ่างฯหนองสิ อ.ขุนหาญ 112.40% อ่างฯห้วยทา อ.ขุนหาญ 102.04% และอ่างฯห้วยด่านไอ อ.กันทรลักษ์ 106.22% นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเกินกว่า 80 เปอร์เซ็น จำนวน 3 แห่ง คือ อ่างฯห้วยตึ๊กชู อ.ภูสิงห์ 83.97% อ่างฯห้วยตะแบง อ.ขุนหาญ 92.77% และอ่างฯห้วยตามาย อ.กันทรลักษ์ 92.80% ส่วนที่ลำน้ำมูล บริเวณเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 85.62% ของความจุทั้งหมด และเขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 99.56% ของความจุทั้งหมด
ซึ่งอาจจะส่งทำให้น้ำในลำห้วยสายต่างๆมีปริมาณน้ำสูงขึ้น และอาจไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มได้ในหลายอำเภอที่มวลน้ำไหลผ่าน อาทิ อ.ขุนหาญ อ.ไพรบึง อ.พยุห์ อ.น้ำเกลี้ยง และอ.กันทรารมย์ ก่อนไหลลงแม่น้ำมูล ส่วนอีกจุดหนึ่ง คือ อ.กันทรลักษ์ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยด่านไอ ก็เกินความจุอ่างแล้ว คาดว่าจะกระทบในพื้นที่ของ อ.กันทรลักษ์ อ.เบญจลักษ์ อ.โนนคูณ เส้นทางน้ำไหลผ่าน อีกจุดหนึ่ง คือ ในเขต อ.เมืองศรีสะเกษ ห่วงเรื่องน้ำท่วมขังในเขตชุมชน ซึ่งทาง ปภ.ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆที่อาจมีน้ำท่วมขังไว้แล้วทุกจุด
ทั้งนี้ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้แจ้งเตือนไปยังอำเภอทั้ง 22 อำเภอ ให้ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และให้แจ้งผู้บริหารท้องที่/ท้องถิ่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้เตรียมการแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงราบลุ่ม หรือพื้นที่เชิงเขา รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชม. หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ให้ นายอำเภอ ในฐานะผู้อำนวยการอำเภอ ร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น ให้เข้าไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด แล้วรายงานขอรับการสนับสนุนมาที่จังหวัด ถ้าเกิดเหตุหรือต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งเหตุมาได้ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้ที่หมายเลขสายด่วน 1784 หรือหมายเลข 0-4561-2589 หรือ 08-9693-9565 ตลอด 24 ชม.
พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา ศรีสะเกษ // รายงาน