ขอนแก่น(ชมคลิป)อธิบดีกรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 63 และการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ภาคอีสาน

อธิบดีกรมชลประทาน ห่วงสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นเหลือน้อย จึงต้องมีการวางแผนใช้น้ำอย่างประหยัดปลอดภัย ไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน พร้อมวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563

   วันนี้ (19 ส.ค. 63) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 และการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5,6,7,8 และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลำน้ำพอง สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 3,568  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,956 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 7,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 1,289 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของแผนการจัดสรรน้ำ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่  ขณะที่สถานการณ์น้ำตามเขื่อนต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ปริมาณกักเก็บของน้ำถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าห่วง แต่สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเพราะมีปริมาณกักเก็บอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 15 ของความจุอ่าง  และน้อยกว่าปีที่แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 21 ของความจุอ่าง จึงต้องมีการพิจารณาใช้น้ำอย่างประหยัดและปลอดภัย เพื่อไม่ให้กระทบกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นการทำงานแบบ “เข้าถึง เข้าพบ เข้าแก้” คือ เข้าถึงและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด    เข้าพบปะประชาชนเพื่อติดตามสอบถามปัญหาในพื้นที่ หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการเข้าแก้ไขปัญหา  การสร้างเครือข่าย อาทิ กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน อาสาสมัครชลประทาน ให้ช่วยเป็นหู เป็นตา และเป็นกระบอกเสียง ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่   การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน  เตรียมพร้อมสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนบูรณาการการทำงานร่วมกันทางจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น และ กำหนดให้สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ดำเนินการวัดระดับน้ำทุกจุด ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ในการตรวจวัดระดับน้ำหากเกิดวิกฤติ