วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 –พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายกีรป (กี – รบ) กฤตธีรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพินิจ ตันติวิญญูพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 และคณะ ลงพื้นที่ร่วมกับกองกำลังสุรศกดิ์มนตรีและหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตหนองคาย ตรวจสอบสภาพริมโขงแนวเขตไทย – ลาว ดอนชิงชู้ อำเภอศรีเชียงใหม่ พร้อมเร่งประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการอนุญาตดูดทรายในแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย และแม่น้ำเหือง จังหวัดเลย หลังเดือดร้อนกระทบหลายภาคส่วน
พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการร้องเรียนคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย (กพด.) จังหวัดหนองคาย ไม่ต่อใบอนุญาตดูดทรายให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขข้อกำหนดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองของคณะกรรมการร่วมไทย – ลาว เพื่อดูแลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (Joint Committee for Management on Mekong River and Heung River หรือ JCMH) ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการดูดทราย ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ติดตามแก้ไขเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และยิ่งพบว่ามีผลกระทบต่อเนื่องในส่วนอื่น ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ คือ เริ่มเกิดปัญหาความขาดแคลนทรายสำหรับการก่อสร้างภายในจังหวัด อาจต้องขนส่งทรายมาจากจังหวัดอื่น ๆ ทำให้ราคาต้นทุนสูงขึ้น ปัญหาการเลิกจ้างงานเมื่อไม่สามารถดำเนินธุรกิจการดูดทราย ด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ คือ เมื่อร่องน้ำฝั่งไทยตื้นเขิน ทำให้ประชาชนไม่มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค – บริโภค และทำการเกษตร โดยเฉพาะในหน้าแล้งก็ไม่สามารถเดินเรือประมงได้ กลายเป็นเส้นทางลักลอบลำเลียงยาเสพติดและการลักลอบเข้าเมือง รวมไปถึงเรื่องเขตแดนและความมั่นคงของประเทศ คือ การดูดทรายอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำหรือสันดอนหรือเนินทรายในแม่น้ำโขง ซึ่งอาจกระทบต่อเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงระหว่างไทย – ลาว ได้เช่นกัน แล้วปัญหาเหล่านี้อาจจะทยอยเกิดขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ ที่ติดแม่น้ำโขงด้วยหากไม่เร่งแก้ไขโดยเร็ว
พลเอกวิทวัสฯ กล่าวต่อว่า วันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพริมแม่น้ำโขงแนวเขตไทย – ลาว บริเวณดอนชิงชู้ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พ.อ. บุญสิน พาดกลาง รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี น.อ.วรัท โกพลรัตน์ ผู้บังคับการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตหนองคาย อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย พาณิชย์จังหวัดหนองคาย ผู้แทนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาหนองคาย สำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดหนองคาย และผู้ประกอบการดูดทราย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเห็นด้วยว่าการห้ามดูดทรายทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน แต่ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ตาม JCMH ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วมภายใต้คณะกรรมการร่วมไทย – ลาว เพื่อดูแลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (Joint Technical Sub – Committee for Management on Mekong River and Heung River หรือ JTMH) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2559 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าข้อกำหนดนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ จึงได้ปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทราย จากเดิมที่กำหนดให้พื้นที่ดูดทรายต้องมีระยะห่างจากสะพาน เขื่อนป้องกันตลิ่ง ท่าเรือ โรงพยาบาล โรงแรม สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร และอยู่ห่างจากบ้าน ศาสนสถาน และโรงเรียนไม่น้อยกว่า 500 เมตร คงเหลือเพียงพื้นที่ดูดทรายต้องมีระยะห่างจากสะพานไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร รวมทั้งมีการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวงชายแดนไทย – ลาว ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 26 – 28 กันยายน 2560 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายไทย และมี พลตรีสมแก้ว สีลาวง รัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายลาว ซึ่งในการประชุมได้มีการรับทราบและแสดงความยินดีกับผลของการประชุม JTMH ครั้งที่ 4
ในวันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันตีความเกี่ยวกับสาระสำคัญของการประชุม JTMH ครั้งที่ 4 และการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวงชายแดนไทย – ลาว ครั้งที่ 10 เพื่อนำมาพิจารณาผลักดันเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาผลกระทบของการบังคับใช้ข้อกำหนดเดิม แล้วให้ใช้มติของ JTMH ที่เห็นควรให้แก้ไขข้อกำหนดเหลือเพียงว่า พื้นที่ดูดทรายต้องมีระยะห่างจากสะพานไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร ไปพลางก่อนจนกว่า JCMH จะมีการประชุมรับรองข้อกำหนดดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะประสานกับกองทัพเรือและกองทัพบกเพื่อสั่งการไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลลำน้ำโขงให้สำรวจตรวจสอบร่องน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานและเกิดผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากลำน้ำโขงของประชาชน และให้จังหวัดหนองคายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าภาพประสานงานกับทางการลาวเพื่อผลักดันให้ดอนชิงชู้เป็นโครงการนำร่องในการขุดลอกทรายเพื่อประโยชน์ของประชาชนและเกษตรกรทั้งสองประเทศที่อาศัยโดยรอบ
:ฤาษีลภ-ปวีณา//จ.หนองคาย