ครูเกษียณ โค่นต้นยางพารา ปลูกทุเรียนหมอนทองแห่งแรกพื้นที่ “ภูโน” เขตพื้นที่การดูแลของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ได้ผลผลิตดี ไม่พอส่งขาย ออเดอร์จองล้น รวมกลุ่มเป็นเกษตรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ ก่อนจะตกผลึกใช้ชื่อแหล่งที่มาของทุเรียนว่า “ทุเรียนคอมมิวนิสต์”
นายวิสิทธิ์ แก้วคำแสน อายุ 65 ปี บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เผยถึงการปลูกทุเรียนเป็นแห่งแรกของอำเภอกระนวนว่า “ตนเองรับราชการครูที่โรงเรียนดูนสาด ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นพื้นที่ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันได้กลับเข้ามาพัฒนาชาติไทย เป็นเขตพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น อุดรธานี และกาฬสินธุ์ ก่อนที่จะเกษียณ 2 ปี ได้ปลูกทุเรียนหมอนทองจำนวน 7 ต้น ซึ่งคิดว่ามันเป็นพืชทางเลือกยังไม่มีในท้องถิ่นของเรา ผืนดินแปลงนี้เคยปลูก ไผ่ตง กล้วย มันสำปะหลัง จากนั้นทำการปลูกยางพาราซึ่งได้ผลผลิตดีมาก หลังจากยางพาราหมดอายุ จึงทำการโค่นต้นยางออก และก็มาปลูกทุเรียน ทุเรียนทั้ง 7 ต้นแรก ปลูกแบบล้มลุกคลุกคลาน เพราะยังไม่มีความรู้ในเรื่องการปลูกทุเรียน ต่อมาได้รู้จักวิธีปลูกจากยูทูป ศึกษาเอง ทดลองเอง โดยรู้จักไตรโคเดอร์มา ซึ่งมันเป็นชีวภัณฑ์ เมื่อก่อนจะมีปัญหาเรื่องเชื้อรา ปลูกแล้วมันจะไม่รอด พอฉีดตัวนี้ไป มันก็รอด รอดทั้ง 7 ต้น จากนั้นในปีต่อมาได้ปลูกเพิ่มอีกทุกปี อายุเฉลี่ยกันไป บนเนื้อที่ 8 ไร่ รุ่นสุดท้ายปลูกในปี 2565 ซึ่งมีอายุ 2 ปี ซึ่งมีอัตราการรอดทุกต้น มีจำนวน 100 กว่าต้น
คุณครูกล่าวต่อไปอีกว่า เกี่ยวกับเรื่องผลผลิตนั้น ถือได้ว่าผลผลิตดีมากทำการขายในสวนก็ไม่พอ เนื่องจากเรามีจำนวนน้อย ซึ่งผลผลิตมีคุณภาพ เปลือกบาง เม็ดลีบ เนื้อหวาน ผู้ซื้อไปทานแล้วติดใจ ไม่ได้ยอตนเองนะครับ มีคนอื่นพูดให้ฟัง หลังจากรับประทานเปรียบเทียบจากที่อื่นแล้ว ส่วนเรื่องราคาขึ้นอยู่ท้องตลาดที่มีการซื้อขายตามฤดูกาล
ในมุมมองของตนเห็นว่าทุเรียนเป็นพืชทางเลือกที่ยอดเยี่ยมมาก ถ้าหากทางการมองเห็น มีวิสัยทัศน์ที่จะมาช่วยกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนเกษตรแปลงใหญ่ ตำบลดูนสาด ผมว่าจะเป็นหนทางที่จะสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ให้กับประชาชนผู้ปลูกทุเรียนในท้องถิ่นนี้เป็นอย่างดี ซึ่งได้มีเกษตรอำเภอได้ทำการประชุมผู้ปลูกทุเรียนในอำเภอกระนวน ให้ข้อคิด ให้ความรู้ทางวิชาการ โดยได้มีการจัดตั้งกลุ่ม คือ “กลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียนดูนสาด” โดยมีตนเองเป็นประธานกลุ่ม
ในเรื่องของราคาทุเรียนที่กลุ่มเราปลูกนั้น ได้อิงกับราคาท้องตลาด 180-200 บาท ตนก็ขาย 150 บาท เมื่อปีกลาย ในปีนี้จะขายในราคา 170 บาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการใช้กระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำจากบ่อบาดาล อีกทั้งยังมีการสั่งจองตั้งแต่ทุเรียนยังลูกเล็กเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถตอบสนองออเดอร์เหล่านั้นได้
ทางด้านนายพงศกรณ์ เสาร์ทน คณะทำงานรัฐมนตรี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวถึงการลงพื้นที่รับทราบปัญหาของพี่น้องผู้ปลูกทุเรียน ตำบลดูนสาด ว่า “ในการลงพื้นที่เพื่อทราบปัญหาของผู้ปลูกทุเรียนตำบลดูนสาดครั้งนี้ ทราบว่าในพื้นที่เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง แต่ความแห้งแล้งของพื้นที่ก็ยังแพ้ความสามารถ และแพ้ความพยายามของเกษตรกรเรา จากที่ได้รับรู้รับทราบปัญหาหลัก ๆ คือเรื่องน้ำ ซึ่งในครั้งนี้ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลลงพื้นที่เพื่อมาทราบและหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย แต่ปัญหาหลักก็คือพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวน ในภาคของการลงทุน เกษตรกรจะมีผลกระทบในเรื่องของการขอเงินลงทุน หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยากและลำบาก ซึ่งทางคณะทำงานจะได้นำเรื่องเสนอต่อ รัฐมนตรี เพื่อปลดพื้นที่จากป่าสงวน เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อให้พี่น้องได้ทำมาหากินได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกทะเรียนโดยตรง กระทรวงเกษตรฯ จะได้ส่งนักวิชาที่มีองความรู้เข้ามาให้การช่วยเกษตรผู้ปลูกทุเรียนอีกต่อไป
สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียนดูนสาด มีพื้นที่เพาะปลูก 357 ไร่ เกษตรกร 87 ราย พื้นที่ให้ผลผลิต 58 ไร่ (4-5ปี) สายพันธุ์ทุเรียนที่ปลูก หมอนทอง หลงลับแล ก้านยาว ที่มาของพื้นที่ปลูก เขตพื้นที่ของผู้กลับตัวกลับใจเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย (คอมมิวนิสต์) จึงมีชื่อเรียกว่า “ทุเรียนคอมมิวนิสต์”