นายก อบต.ดังเมืองศรีสะเกษ ถูกมือดีแฮกเฟซบุ๊กแชทขอยืมเงินคนทั่ว ล่าสุดมีเหยื่อหลงกลโอนไวแล้วหลายราย

นายก อบต.ดังเมืองศรีสะเกษ ถูกมือดีแฮกเฟซบุ๊กแชทขอยืมเงินคนทั่ว ล่าสุดมีเหยื่อหลงกลโอนไวแล้วหลายราย

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นายโยธิน มุลกะกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะพุง อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ แจ้งเตือนภัยผ่านสื่อมวลชนว่า ตนได้รับแจ้งจากเพื่อนสมาชิกในเฟซบุ๊กว่า มีข้อความแชทระบุว่า “มีเงินในบัญชีไหม ให้ยืมหน่อย 4,100 บาท ไม่เกิน 5 ชั่วโมง จะคืนให้ 4,500 บาท ให้ดอกเบี้ย 400 บาท” ส่งจากเฟซบุ๊กตนถึงเพื่อนสมาชิกที่เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊ก ที่มีอยู่จำนวนกว่า 2,000 คน ซึ่งมีบางคนหลงเชื่อและได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวไป แต่บัญชีที่โอนไปนั้นไม่ใช่ชื่อของตน เป็นชื่อบัญชีและหมายเลขบัญชีของบุคคลอื่น ซึ่งคนที่โอนไปนั้นได้หลงเชื่อคิดว่าตนส่งข้อความไปร้องขอให้ช่วย ตนขอยืนยันว่า เฟซบุ๊กที่ส่งข้อความแชทดังกล่าวไปขอยืมเงินนั้น ไม่ใช่ตน และอย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว เฟซบุ๊ก ของตนใช้ชื่อว่า “โยธิน มุลกะกุล” ได้ถูกแฮกเกอร์มือดีเข้ามาแฮกเข้าใช้งาน เวลาประมาณก่อนเที่ยงของวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ซึ่งทำให้ตนไม่สามารถเข้าใช้เฟซบุ๊คของตัวเองได้เลย และแฮกเกอร์ยังนำเฟซบุ๊กของตน ส่งข้อความให้กับเพื่อนสมาชิกที่ตนเป็นเพื่อนกันอยู่ จำนวนกว่า 2,000 คน หลังทราบข้อมูลตนได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.ตูม เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

นายโยธิน กล่าวต่อไปอีกว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบ สอบถามไปกับสมาชิกในเฟซบุ๊ก มีคนที่หลงโอนเงินไปให้แฮกเกอร์แล้ว 4-5 ราย ดังนั้นจึงอยากจะขอฝากเตือนถึงทุกคนว่าหากมีใคร แม้จะเป็นคนสนิทคนในครอบครัว ส่งข้อความมาขอยืมเงิน หรือ ให้โอนเงินให้ ควรที่จะโทรกลับไปถามเจ้าของข้อความเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายถูกหลอกโอนเงินไปให้กับมิจฉาชีพเหมือนกับกรณีแบบนี้
ด้านเจ้าหน้าที่ อบต. ที่เป็นหนึ่งในคนที่ถูกส่งข้อความมาขอยืมเงิน ได้เปิดเผยว่า วันนั้นมีข้อความจาก เฟซบุ๊ก นายก อบต.สะพุง ส่งแชทมาว่า “มีเงินไหมในบัญชี ขอยืมเงินหน่อย 4,100 บาท 5 ชั่วโมงจะคืนให้ 4,500 บาท ให้ดอกเบี้ย 400 บาท” ตอนนั้นตนเกือบจะโอนเงินให้แล้ว แต่ก่อนจะโอนนั้น จนสังเกตเห็นว่าเลขที่บัญชีที่ให้โอนไปนั้น มันไม่ใช่เลขที่บัญชีของ นายก อบต.สะพุง จึงไม่ได้โอนไป ตนพยายามโทรกลับทางเฟซบุ๊ก แต่ก็ถูกตัดสายทิ้ง ก่อนจะมีข้อความส่งกับมาว่าให้พิมพ์คุยกัน ตนเห็นว่ามันผิดปกติ ไม่น่าใช่แล้ว จึงได้โทรศัพท์สายตรงไปหา นายกฯ เจ้าของเฟซบุ๊ก ว่าได้ส่งข้อความมาขอยืมเงินจริงหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่า ไม่ได้ส่งข้อความใดๆมาหาตน และแจ้งกับตนว่าเฟซบุ๊กถูกแฮก ห้ามโอนเงินเด็ดขาด ตนจึงเข้าใจเลยว่าเป็นมิจฉาชีพแฮกเฟซบุ๊ก เพื่อไปหลอกให้คนโอนเงินเหมือนที่เห็นในข่าวบ่อยครั้ง.

ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน