มหาสารคาม (ชมคลิป) ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านยุติการเก็บของมูลประเมินผลงานวิจัยตั้งโรงงานน้ำตาล

ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านยุติการเก็บของมูลประเมินผลงานวิจัยตั้งโรงงานน้ำตาลยุติการเก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่อธิการรับหนังสือพร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง


ที่บริเวณด้านหน้าอาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กว่า 10 คน ซึ่งเดินทางมาจาก ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ถือป้ายคัดค้านไม่เอาโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล(ชานอ้อย) โดยขอพบ รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อขอให้มีคำสั่งให้อาจารย์ 2 คนของมหาวิทยาลัยฯ ยุติการเก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบจรรยาบรรณ และจริยธรรม โดยชาวบ้านมองว่าในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไปละเมินสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านและชุมชน โดยมีการชูบ้าย หยุดวิจัยเครื่องซักผ้า หยุดอาจารย์มหาลัยทำอีไอเอ ชาวบ้านไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่ารับใช้นายทุน ชาวบ้านไม่เอาโรงงานน้ำตาล ไม่เอานักวิชาการเครื่องซักผ้า รับใช้นายทุน
นางหนูปา แก้วพิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ให้สัมภาษณ์า ตนเองและคณะมาในนามกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา เดินทางมาจากตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตามที่มีการว่าจ้างให้บริษัทแห่งหนึ่งทำการจัดเตรียมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งขึ้นที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งพวกตนประกอบไปด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบลโนนสวรรค์ สภาองค์กรชุมชนตำบลสระบัว องค์กรประชาชนหลายองค์กร และนักวิชาการ ได้คัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด และพบว่า ในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งขึ้นที่ตำบลโนนสวรรค์ มีการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน โดยได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ
แต่ได้ปรากฏว่า มีบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2 คน และนิสิตจำนวนหนึ่งได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ซึ่งการกระทำของอาจารย์ทั้ง 2 คน ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการละเมิดสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนของพวกตน ทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงขอเรียกร้องให้สั่งการให้อาจารย์ทั้ง 2 คน รวมถึงนิสิต ยุติการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งใน ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ดโดยทันที และห้ามไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ขอให้มีการตรวจสอบจรรยาบรรณการวิจัย ของอาจารย์ทั้ง 2 คนว่าการเก็บข้อมูลดังกล่าว ได้มีการขอจรรยาบรรณการวิจัยหรือไม่ และผิดจรรยาบรรณการวิจัยหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลที่เก็บถือว่าเป็นการวิจัยในมนุษย์ ขอให้มีการสอบวินัย อาจารย์ทั้ง 2 คน ว่าการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขัดต่อระเบียบมหาวิทยาลัยฯ หรือไม่ เนื่องจากบุคคลทั้งสองได้แสดงบัตรประจำตัวบุคลากรสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างลงพื้นที่เก็บข้อมูล
และทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ขอแจ้งให้ทราบว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัตนธรรม โดยทำลายวิถีชีวิตของชาวนาทุ่งกุลา ทำลายพื้นที่ที่เป็นดินแดนการปลูกข้าวหอมมะลิโลก ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากโรงงานและการเผาอ้อย โครงการทั้งสองยังขัดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีการละเมิดสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน
ซึ่งเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า อาจารย์ทั้ง 2 คน เป็นอาจารย์ผู้สอนในคณะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใดถึงได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ลงมาพบปะกับเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา พร้อมรับหนังสือร้องเรียน ซึ่งจากนี้จะได้ลงบันทึกรับหนังสือไว้ และจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และแจ้งผลให้กับกลุ่มเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาต่อไป