วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมด้วย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ บ้านบึงกาฬใต้ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยมี นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม นายพีรพงศ์ จันทรา ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม นายพิสิษฐ์ ชิณะวิพัฒน์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดบึงกาฬ และเจ้าหน้าที่สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง สำนักสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมลงพื้นที่
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ บ้านบึงกาฬใต้ (ระยะที่ 1)ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ให้นโยบายในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวจังหวัดบึงกาฬด้วย ซึ่งขณะนี้โครงการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 96.03 % คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565 นี้ จึงได้กำชับให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ควบคุมและติดตามการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง “แลนด์มาร์ค” แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอนาคตที่จะทำให้จังหวัดบึงกาฬมีชื่อเสียงในระดับประเทศ และเป็นแหล่งการค้า การลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอินโดจีนอีกด้วย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว เป็นงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งชนิดเรียงหิน มีความยาวประมาณ 3,055 เมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ปีงบประมาณ คือ ปีงบประมาณ 2563 ความยาว 1,235 เมตร และปีงบประมาณก่อสร้างต่อเนื่องปี 2564 ความยาว 1,820 เมตร โดยมีองค์ประกอบเป็นทางเท้า ราวกันตก และบ่อพักพร้อมท่อระบายน้ำ ความกว้าง 2.95 เมตร และถนน ค.ส.ล. ผิวจราจรกว้าง 6 เมตร ตลอดแนวสันเขื่อน หน้าเขื่อนเรียงหินใหญ่ตามแนวลาดตลิ่ง 1:2.5 จรดดินเดิม มีบันไดขึ้นลงหน้าเขื่อน จำนวน 4 แห่ง อัฒจันทร์ด้านหน้าเขื่อน ความกว้าง 60 เมตร จำนวน 3 แห่ง และสะพาน 1 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยป้องกันการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำโขง และรักษาดินแดนและแนวเขตชายแดนของประเทศไทย รวมถึงป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ตามแนวตลิ่งริมแม่น้ำโขง นอกจากนี้ พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์หลังเขื่อนจะนำมาพัฒนาเป็น “แลนด์มาร์ค” รองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวจังหวัดบึงกาฬ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สวนสุขภาพ ที่จะเป็นปอดของชุมชน เป็นสวนสาธารณะ และสถานที่จัดงานสำคัญๆของจังหวัด และของชุมชน ด้วยความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง และเริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าว (แลนด์มาร์ค) ได้ผู้รับจ้างโครงการเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการรอลงนามในสัญญา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนธันวาคม 2565 นี้
ปวิณชัย บุญพิเชฐ บึงกาฬ