กาฬสินธุ์(ชมคลิป)ปิดห้องสางปัญหาชาวบ้านซื้อวัวนายทุน 5 แสนได้วัวผิดสเปก


ยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกนายทุนขายวัวและชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหาย จากการกู้เงินกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรซื้อวัว 10 ตัววงเงิน 5 แสนบาท แต่นายทุนส่งวัวไม่ตรงสเปก หลังเข้าร้องร้องเรียนขอความเป็นธรรมนาน 4 เดือน แต่ยังไม่คลี่คลาย ล่าสุดเรียกทั้ง 2 ฝ่ายเข้าไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออก ได้ข้อยุตินายทุนเสนอจัดวัวตัวใหม่ ให้ชาวบ้านเลือกเองตามสเปค
จากกรณีชาวบ้านใน ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อน หลังรวมกลุ่มกู้เงินกองทุน 5 แสนบาท เพื่อซื้อวัวพันธุ์บราห์มันกับบริษัทเอกชนมาเลี้ยงหวังสร้างงาน สร้างอาชีพ แต่ถูกนายทุนจัดส่งวัวมาให้ 10 ตัว ราคาตัวละ 36,000 บาท รวม 360,000 บาท รวมค่าอาหารเสริม ค่าหญ้าอีกว่า 140,000 บาท กลับได้รับวัวไม่ตรงตามสัญญา ทั้งน้ำหนัก และสายพันธุ์ไม่ตรงสเปค บางตัวผอมแห้ง และมีตุ่มคล้ายป่วยโรคลัมปีสกิน วอนนายทุนคืนเงิน แต่บ่ายเบี่ยงตลอด เข้าร้องทุกข์และปรึกษา กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.กาฬสินธุ์ และศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์แล้ว แต่ยังไม่มีข้อยุติ เรียกร้องยุติธรรมช่วยเหลือ
ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 มกราคม 2565 ที่สำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ศาลากลางจังหวัด ชั้น 4 ชาวบ้านจำนวน 10 คน นำโดยนายวิเชฐ เขตประกร อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ 12 บ้านธนบุรี ต.โพนงาม ประธานกลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านธนบุรี พร้อมชาวบ้านผู้เสียหาย ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ยุติธรรม และคณะกรรมการไกล่เกลี่ยกรณีดังกล่าว โดยเป็นการเข้าพบตามที่ได้รับการนัดหมาย ทั้งนี้ ชาวบ้านระบุว่า ทางสำนักงานยุติธรรมได้กำหนดวันให้ชาวบ้านและนายทุน มาทำการไกล่เกลี่ยเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้
อย่างไรก็ตาม ในการไกล่เกลี่ยดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ยุติธรรม และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ได้ให้ตัวแทนชาวบ้าน 4 คน เข้าพูดคุยเป็นการภายใน สลับกับเรียกฝ่ายนายทุน โดยเป็นการปิดห้องพูดคุย และไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปบันทึกภาพในขณะการพูดคุย ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง
นางไพจิตร บุญวิรัตน์ อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 10 หมู่ 12 บ้านธนบุรี ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในชาวบ้านผู้เสียหาย กล่าวว่าตนและเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ และทำเรื่องขอกู้เงินกองทุนมาจำนวน 5 แสนบาท เฉลี่ยคนละ 5 หมื่นบาท เพื่อซื้อวัวพันธุ์ดีมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ทำสัญญาซื้อขายระหว่างกลุ่มกับนายทุนบริษัท เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 โอนเงินจากกองทุนฯ เข้าบัญชีของนายทุน กำหนดส่งมอบวัววันที่ 10 ตุลาคม 2564 แต่นายทุนกลับเอาวัวมาส่งวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยเป็นวัวที่ไม่ตรงสเปก ทั้งน้ำหนักและสายพันธุ์ บางตัวผอมแห้ง และมีตุ่มคล้ายป่วยโรคลัมปีสกิน ชาวบ้านจึงไม่ยอมรับวัว ต่อมานายทุนให้คนมารับวัวกลับคืนไป ในขณะที่ขาวบ้านเรียกร้องให้นายทุนคืนเงิน เนื่องจากผิดสัญญาชัดเจน เพื่อชาวบ้านจะได้นำเงินไปหาซื้อวัวมาเลี้ยงเอง แต่ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ 4 เดือน ไม่สามารถติดต่อกับนายทุนขายวัวได้ ในที่สุดจึงรวมตัวกันมาร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม และยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ กระทั่งมีการนัดหมาย เพื่อทำการไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้านกับนายทุนในวันนี้
ด้านนายวิเชฐ เขตประกร ประธานกลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านธนบุรี กล่าวว่า ถึงวันนี้สิ่งที่เกษตรกร ชาวบ้านต้องการคืออยากได้เงินคืน เพื่อที่จะไปจัดการหาซื้อวัวมาเลี้ยงเอง แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่สามารถติดต่อนายทุนได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และเสียโอกาสในการมีรายได้จากการเลี้ยงวัวเพื่อจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยกันในครั้งนี้ เบื้องต้นทางคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ได้ให้ความหวังกับตนและเพื่อนเกษตรกร ที่จะช่วยเจรจาให้ทางนายทุนทำตามที่ชาวบ้านต้องการ คือคืนเงินจำนวน 5 แสนบาท ซึ่งหากยอมคืนเงินให้ ก็เป็นอันยุติกันไป แต่หากไม่ยอมก็จะขอความเป็นธรรมกับกระบวนการศาลยุติธรรมต่อไป
ทั้งนี้ ข้อตกลงในสัญญา ที่ทำขึ้นระหว่างนายทุนขายวัวกับชาวบ้าน ที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.กาฬสินธุ์ คือในสัญญาซื้อขาย 5 แสนบาท ระบุว่าการวัวต้องเป็นสายพันธุ์ผสมบราห์มัน จำนวน 10 ตัว แต่ละตัวต้องมีน้ำหนัก 300 กิโลกรัม ราคาตัวละ 36,000 บาท รวมเป็นเงิน 360,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 140,000 บาท แบ่งเป็นค่าอาหารเสริม ค่าหญ้าหมัก และค่าดำเนินการอื่นๆ ทั้งนี้กำหนดมอบวัววันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานว่า หลังร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น. นายวิเชฐ เขตประกร ประธานกลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านธนบุรี แจ้งว่า หลังเจรจาเกือบ 4 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติ โดยทางนายทุนเสนอที่จะจัดส่งวัวพันธุ์บราห์มันชุดใหม่ให้ โดยให้ชาวบ้านไปเลือกที่ฟาร์มหรือแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือฟาร์มในเครือข่ายของนายทุนดังกล่าว ในราคาตัวละประมาณ 3 หมื่นบาท จำนวน 10 ตัว เมื่อชาวบ้านเลือกวัวได้แล้วก็แจ้งบริษัท ไปชำระเงินค่าซื้อวัว ทั้งนี้ จะมีการทำสัญญา บันทึกข้อตกลงอีกครั้ง ในวันที่ 8 ก.พ.65 ส่วนสถานที่ทำสัญญาจะนัดหมายอีกครั้ง
สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ชาวบ้านพอใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ยุติธรรมและคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ที่เป็นตัวกลางประสานนายทุนและช่วยเหลือชาวบ้านในครั้งนี้ ทั้งนี้ ก่อนการประชุมและหลังประชุม กรรมการไกล่เกลี่ยและตัวแทนนายทุนขายวัว ไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด