ขอนแก่น-กกพ.หนุนคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องการจัดการขยะ สู่การผลิตไฟฟ้า จัดประกวดสื่อรณรงค์ที่เข้าใจ-เข้าถึง สื่อสารง่ายในระดับภูมิภาค

กกพ.หนุนคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องการจัดการขยะ สู่การผลิตไฟฟ้า จัดประกวดสื่อรณรงค์ที่เข้าใจ-เข้าถึง สื่อสารง่ายในระดับภูมิภาค กระตุ้นเด็กและเยาวชนใส่ใจปัญหาขยะเพื่อการแก้ไขที่ยั่งยืน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 18 มี.ค.2564 ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคาร 50 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นประธานเปิดกิจกรรม Waste 2U ขยะเพื่อคุณภาพชีวิต ซึ่ง กองทุนพัฒนาฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น ท่ามกลางความสนใจของนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ. กล่าวว่า ระดับภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่วันนี้ กกพ. ร่วมกับ มข.ได้จัดการประกวด U-ZERO WASTE CREATOR CONTEST โดยมีนักศึกษาที่ผ่านการเข้ารอบ 6 ทีม ซึ่งประกอบด้วยทีมเดอะเมส(ก์) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น,ทีม ONE PLUS ONE จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ทีม PUBLIC SAVE จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น,ทีม ชมรมวีนสา’สุข จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและทีมเดอะเบสท์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ซึ่งแต่ละทีมได้นำเสนอผลงานตามระเบียบ ข้อบังคับตามที่ คณะกรรมการกำหนด ซึ่งทุกทีมได้นำเสนอผลงานที่โดดเด่นและเกี่ยวกับกับปัญหาขยะ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางผ่านการสื่อสารผลงานที่สร้างสรรค์เพื่อร่วมกันจัดการขยะสู่การผลิตไฟฟ้าผ่านกระบวนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ไม่จำกัดรูปแบบ
“ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการจุดประกายให้เยาวชนในระดับสถาบันการอุดมศึกษา ได้นำความคิดที่สร้างสรรค์มาทำการผลิตสื่อตามเนื้อหาที่ กกพ.กำหนดคือจะต้องมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มีการสร้างสรรค์แนวคิดในการจัดการขยะโดยเริ่มจากตนเองจากการจัดการในครัวเรือนไปจนถึงการจัดการในระดับชุมชน ผ่านหลัก 7R ซึ่งประกอบด้วย การปฎิเสธการใช้ หรือRefuse การใช้สินค้าที่เติมได้ หรือ Refill การหมุนเวียนมาใช้ใหม่ หรือ Return, การซ่อมแซม หรือ Repair . การใช้ซ้ำหรือ Reuse,การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ Recycle และการลดการใช้ หรือ Reduce เพื่อที่จะรู้ว่าเราจะทำอย่างไรกับขยะที่มี ไปจนกระทั่งการทำอย่างไรให้เกิดขยะน้อยที่สุด เพื่อสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญคือการจัดการขยะไปสู่การผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติในเรื่องปัญหาขยะที่ทุกพื้นที่จะต้องดำเนินการจัดการอย่างจริงจัง”

ดร.บัณฑูร กล่าวต่ออีกว่า ขยะถ้าทุกท่านมองว่าหรือคิดว่าเป็นขยะก็คือขยะ แต่ถ้ามองในมิติต่างๆนั้นขยะ 1 ชิ้น นั้นสามรถจำแนกออกเป็นได้หลายส่วนเพราะเมื่อทุกคนทำการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็จะสามารถจำแนกได้ว่าแต่ละอย่างนั้นจะจัดการได้ในกระบวนการใดบ้าง อีกทั้งในขณะนี้การจัดการขยะในขั้นตอนสุดท้ายคือกลุ่มขยะที่รอการกำจัด ซึ่งเดิมจะใช้ในรูปแบของการไถกลบแต่มาวันนี้มีการพูดถึงการนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งขอนแก่น เป็น1 ในจังหวัดหัวเมืองหลักของไทยที่มีการจัดการขยะด้วยระบบการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า จากนั้นจากนี้ไปในอีกหลายพื้นที่ก็จะมีการกำจัดขยะด้วยวิธีการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ที่ถือเป็นพลังงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการจุดประกายแนวคิดในเด็กและเยาวชนด้วยการรับฟังแนวคิดของเยาวชนที่ถ่ายทอดผ่านการสื่อสารในโจทย์ที่ กกพ.และคณะทำงานนั้นมอบให้ จะเป็นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จนเกิดการสร้างเครือข่ายพลังงานหมุนเวียน เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานในประเทศได้อย่างสมดุลและต่อเนื่องต่อไป.


ก่อสิทธิ์ กองโฉม / บังอร กองโฉม / ขอนแก่น/ รายงาน