ขอนแก่น-เขตสุขภาพที่ 7 ก.สาธารณสุข โดยเครือข่าย รพ.สิรินธรฯ ยกระดับบริการบัตรทองปฐมภูมิรักษาทุกที่ ด้วยหมอ 3 คน ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข

เมื่อไม่นานนี้ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7, นพ.อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 7, นพ.อุดม อรุณรุ่งศรี ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น, ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและผู้
อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7, นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในเขตสุขภาพที่ 7 (4 จังหวัดในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) ไปร่วมตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถไปรับบริการได้ทุกที่ โดยมี นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร จังหวัดขอนแก่น และประธานเครือข่าย
บริการสุขภาพโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น นายประจักษ์ จันทะราช สาธารณสุขอำเภอเมืองขอนแก่น พร้อมด้วย บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. ให้การต้อนรับ และร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายการบริการปฐมภูมิรักษาทุกที่ ไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกัน ได้แก่ 1.การดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยทีมหมอ 3 คน 2.การใช้กัญชาทางการแพทย์และการขับเคลื่อนการใช้กัญชาใน
หน่วยบริการปฐมภูมิ และ 3.หมอครอบครัวสิรินธรฯ

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2563 ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอเพื่อ “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข กรณีผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถไปรับบริการได้ทุกที่นั้น สำหรับนโยบายบริการปฐมภูมิรักษาทุกที่

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายสำคัญด้านสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 “ต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน” จำนวน 4 ข้อ คือ 1) การรับบริการกับหมอครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ 2) ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว 3) โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่มีความพร้อม 4) การย้ายหน่วยบริการได้ 4 ครั้งต่อปีได้สิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงการรักษา ได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าไข้จ่าย อีกทั้งได้สนองนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วย

นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่รับผิดชอบ 2 อำเภอ คือ อำเภอบ้านแฮด ทั้งหมด 4 ตำบล และอำเภอเมืองขอนแก่น อีก 2 ตำบล คือ ตำบลท่าพระ และตำบลดอนหัน โดยมี รพ.สิรินธร จังหวัดขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และมีหน่วยบริการปฐมภูมิรวม 13 แห่ง จัดบริการด้วยทีมหมอครอบครัว (หมอ 3 คน) หมอคนที่ 1 คือ หมอประจำบ้าน (อสม.) หมอคนที่ 2 คือ หมอใกล้บ้าน (หมออนามัย) และหมอคนที่ 3 คือ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้บริการเต็มพื้นที่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีตั้งกลุ่มไลน์หมอ 3 คน และหัวหน้าครอบครัวแต่ละหมู่บ้าน เป็นช่องทางการสื่อสารร่วมกันด้วย


สำหรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่นั้น รพ.สต.ท่าพระ เป็นศูนย์แพทย์แม่ข่ายที่มีคุณภาพ มีระบบปรึกษาส่งต่อที่ดีและมีความต่อเนื่อง โดยจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวออกตรวจทุกวัน ประชาชนในพื้นที่ใช้บริการ 80% ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเข้ารับบริการ 70% และได้ยกระดับการบริการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) สามารถรับบริการหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ที่ไหนก็ได้ เกิดขึ้นจริง ในเขตสุขภาพที่ 7 และย้ายสิทธิบัตรทองได้ทันที 4 ครั้งต่อปี จับคู่ความต้องการบริการของประชาชน ดังนี้ 1.บริการส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู รับบริการที่ รพ.สต. 2.บริการรักษาเบื้องต้น สามารถรักษาหรือรับคำปรึกษาทางไกล(Teleconsulting) 3.โรคที่ซับซ้อนต้องการพบแพทย์ ด้วยการส่งต่อศูนย์แพทย์แม่ข่าย

นอกจากนี้ ยังมีระบบสนับสนุนบริการ ได้แก่ 1.ระบบให้คำปรึกษาและการส่งต่อ(Consult and referral system) ด้วยทีมหมอครอบครัว 2.ระบบข้อมูลทางการแพทย์ J-Doctor และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) และระบบการเงินการคลัง E-Claim, Drug Catalog กิจกรรมการขับเคลื่อนงานหมอ 3 คน ได้แก่ ดูแลเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ป้องกันและควบคุมส่งข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น มาตรการแยกสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย (Home quarantine) หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (Communicable Disease Control Unit: CDCU.)ชุมชน รวมทั้งการแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช่น ปัญหาวัณโรค ซึ่งสามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ในการบริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม สู่เป้าหมายการบริการสุขภาพ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน.

ไพฑูรย์ พรหมเทศ ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ จ.ขอนแก่น