วันที่ 6 มกราคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมมีความเป็นห่วงเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติว่าจะมีไม่เพียงพอต่อการปลูกพืชในฤดูแล้งของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่อำเภอศรีสงครามและอำเภอนาทมที่ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ จึงอยากให้มีการวางแผนการปลูกพืชในช่วงนี้ให้ดี อย่างแรกเลยที่ต้องคำนึงถึงคือปริมาณน้ำที่มีอยู่เพราะช่วงวิกฤตจริง ๆ ของการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม -เมษายน ที่พืชกำลังออกผลผลิต เป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำมากเป็นพิเศษหากขาดน้ำในช่วงนี้จะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันก็ต้องมองช่องทางการตลาดด้วย
จึงอยากให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพราะมีอายุการเจริญเติบโตที่สั้นกว่า ได้ผลผลิตที่ไวกว่า มีความเสี่ยงลดลง การดูแลรักษาก็จะไม่ค่อยยุ่งยากเท่าไหร่ ที่สำคัญคือพืชใช้น้ำน้อย อย่างกลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และถั่วลิสง กลุ่มพืชสมุนไพร ได้แก่ อัญชัน ขิง ข่า และตะไคร้หอม กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรือง และกลุ่มพืชผัก ได้แก่ กะหล่ำ ผักกาด กวางตุ้ง หอมแบ่ง คะน้า แตงโม แคนตาลูป ถั่วฝักยาว มันเทศ พริก มะเขือ กะเพรา ตะไคร้ และฟักทอง จะใช้น้ำลดลงถึง 1 ใน 3 ของการทำข้าวนาปรัง และอีกอย่างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 เช่นนี้ การปลูกพืชไว้บริโภคในครัวเรือนก็มีความจำเป็น เพราะถ้าเรามีแหล่งอาหารไว้รองรับก็จะไม่เดือดร้อน อย่างไรก็ดีหลายคนอาจจะไม่มีความรู้และไม่เคยทำในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งทางหน่วยงานก็มีบุคคลากรที่มีความชำนาญไว้ค่อยให้ขอคำปรึกษา คำแนะนำในวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติ โดยสามารถสอบถามได้จากนักส่งเสริมการเกษตรที่อยู่ประจำตำบลที่พี่น้องเกษตรกรอาศัยอยู่ หรือจะมาที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดก็ได้เช่นเดียวกันทุกสถานที่ยินดีต้อนรับตลอดเวลา
ด้านนายสุธี สานถวิล หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกพืชน้ำน้อย เปิดเผยว่า ตนเองปลูกพืชใช้น้ำน้อยประเภท ผักกาด คะน้าและมะเขือ มากว่า 20 ปีแล้ว โดยจำหน่ายในราคาที่ไม่แพงมากนัก อยู่ที่มัด 10 – 20 บาท ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ซึ่งแต่ละวันจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 200-300 บาท ส่วนการลงทุนนั้นคิดง่าย ๆ รวมทุกอย่างแล้วอยู่ที่แปลงละประมาณ 100-200 บาท แต่เมื่อเก็บผลผลิตแล้วจะมีรายได้แปลงละประมาณ 1,000 บาท ก็ถือว่าคุ้มเพราะไม่ได้ดูแลอะไรมากมาย ใช้เวลาเพียง 45 วันต่อรอบการผลิต
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดนครพนม