นครพนม-หนีโควิด เลื่อนจัดงานบุญใหญ่ของชาวอีสานนมัสการพระธาตุพนม


วันที่ 6 มกราคม 64 ที่จังหวัดนครนพม จากการประชุม โดยมีท่านเจ้าคุณพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมเป็นประธาน คณะผู้บริหารวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร มีมติวันนี้ (6 ม.ค.) ให้เลื่อนการจัดงานนมัสการพระธาตุพนม ออกไปเป็นวันที่ 19-27 ก.พ. นี้ จากเดิมที่มีกำหนดจัดขึ้นวันที่ 21-29 ม.ค. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กลับมารุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คณะผู้บริหารวัดก็เห็นตรงกันว่าอาจเลื่อนออกได้อีก เพราะงานนี้มีประชาชนจากทั่วสารทิศมาร่วมจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ถึงอย่างนั้น นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปยังสามารถมากราบไหว้ทำบุญได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค อย่างเช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และต้องผ่านการคัดกรองทุกรายจึงจะเข้าไปในเขตวัดได้ งานนมัสการพระธาตุพนมนับได้ว่าเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลว่า เป็นการเลื่อนการจัดงานออกไปครั้งแรกในรอบ 81 ปี โดยครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี 2483 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทิ้งระเบิดในพื้นที่จังหวัดนครพนม และแถบอินโดจีน จึงมีการเลื่อนการจัดงานนมัสการพระธาตุพนมออกไป เพื่อความปลอดภัยของพุทธศาสนิกชน

งานนมัสการองค์พระธาตุพนม จัดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี หรือในช่วง วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงวัน วันแรม 1 ค่ำเดือน 3 ถือเป็นงานบุญประเพณีใหญ่ของชาวอีสาน ที่สืบสอดกันมายาวนาน โดยจากประวัติความเป็นมา ตามตำนานความเชื่อ พระอุรังคนิทาน ระบุไว้ว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางอากาศ เพื่อไปบิณฑบาต ที่เมืองศรีโคตรบูร สปป.ลาว ภายหลังได้มาประทับแรมที่ภูกำพร้า คือ จุดที่ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน จากนั้นพญาอินทร์ ได้เสด็จมาทูลถาม ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า เช่นกันกับพระพุทธองค์ เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก จะได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้เช่นกัน

ภายหลัง พระพุทธเจ้าปรินิพาน พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก ได้ร่วมกัน สร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น เพี่ออัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาประดิษฐาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 -14 หรือในราวปี พ.ศ.8 สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร กำลังเจริญรุ่งเรือง โดยการนำของพญาเจ้าเมืองทั้ง 5 และพระอรหันต์ 500 องค์ ซึ่งในยุคแรก ได้ก่อสร้างจากดินดิบ เป็นเตาสี่เหลี่ยม ข้างในเป็นโพรงมีประตูทั้ง 4 ด้าน จากนั้นได้มีการบูรณะ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.500 และทำการบูรณะต่อเนื่องมา รวมถึง 6 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 พระธาตุพนมได้พังทลายลง เนื่องจากฐานเก่าแก่ ทำให้เป็นที่ฮือฮา เพราะได้พบเห็นผอบแก้ว บรรจุพระอุรังคธาตุ 8 องค์ ไว้ภายใน และมีการลงเข็มรากสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อปี 2519 เป็นเจดีย์ทรงฐาน 4 เหลี่ยม ความสูง จากพื้นถึงยอดฉัตร 57 เมตร ฐานกว้างด้านละ ประมาณ 12 เมตร ยอดฉัตรเป็นทองคำน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม ภายในได้บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอก ของ พระพุทธเจ้า จากนั้น จึงได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลอง บูชาองค์พระธาตุพนม จนสืบทอดมาถึงถึงปัจจุบันทุกปี
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดนครพนม