ขอนแก่น(ชมคลิป)เครือข่าย ปชช.อีสาน เสนอเชิงนโยบายให้กัญชาเป็นพืชยาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน และภาคีเครือข่ายกัญชาทางการแพทย์ภาคประชาชน ร่วมจัดทำและเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้กัญชาเป็นพืชยาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ห้องประดิษฐ์มนูธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน และภาคีเครือข่ายกัญชาทางการแพทย์ภาคประชาชน จากจังหวัด สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี และขอนแก่น จัดประชุมคณะทำงานโครงการการศึกษาสถานการณ์พฤติกรรมและผลกระทบการใช้กัญชาทางการแพทย์ในจังหวัดภาคอีสาน เพื่อประชุมระดมสมองในการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกัญชาทางการแพทย์ภาคอีสาน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาภาคอีสาน (กพย.อีสาน) แผนงานสร้างเสริมความเข้มแข็งกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ผลการประชุม เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน และภาคีเครือข่ายกัญชาทางการแพทย์ภาคประชาชน ได้แก่ นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ อาจารย์สมภพ บุนนาค อาจารย์ปริยัติ วงศ์ธิเบศร์ อาจารย์อดุลย์ ว่องไว ได้ร่วมกันยื่นหนังสือข้อเสนอดังกล่าว ให้แก่ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พืชยากัญชา กระท่อม ซึ่งได้รับข้อเสนอดังกล่าว และกล่าวว่า การเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ของประชาชน ได้ถูกร่างไว้ใน ร่าง พระราชบัญญัติพืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน โดยจะแยกกัญชาและกระท่อมจาก พระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษและพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จะเป็นการบริหารพืชยา 2 ชนิดนี้ ตั้งแต่ปลูก เมล็ดพันธุ์ แปรรูป ผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ และให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ทางการแพทย์หรือเพื่อการบริโภคตามวิถีชีวิต โดยมีมาตรการในการควบคุม ซึ่งมาจากชุมชนและภาครัฐ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
ในส่วนสรุปสาระเนื้อหาข้อเสนอจากภาคประชาชน เรื่อง การเข้าถึงยาของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรถูกปิดกั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยใช้การรักษาแบบอื่นไม่ได้ผลแล้ว และมีหลักฐานทางการแพทย์ว่า การใช้กัญชาได้ประโยชน์ในหลากหลายโรค ข้อเสนอจากภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนในระดับชาติต่อไป มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้
1.ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกกัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2522 เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้กัญชาในการรักษาโรคของตนเองได้ โดยขอให้นิรโทษกรรมผู้ป่วยที่รักษาตนเองด้วยกัญชา และล้างมลทิน ปรับลดทอนโทษทางอาชญากรรมของผู้ใช้กัญชา ขอให้ประชาชนสามารถปลูกได้เพื่อใช้เฉพาะตนโดยไม่จำกัดการปลูกหรือผลิตเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจ ขอให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการอนุญาต
2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควรสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตำรับยาพื้นบ้านที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมและมีผลงานวิจัยว่าสามารถใช้รักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ขอให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการปลูก การผลิต การแปรรูป และจำหน่าย
3.1 สนับสนุนการปลูกในครัวเรือน (วิถีชีวิต) สนับสนุนให้ใช้กัญชาเป็นวิถีชีวิตทั่วไป (ใช้เป็นอาหารและยารักษาตนเอง)
3.2 สนับสนุนการปลูก แปรรูป และจำหน่ายเป็นเศรษฐกิจของท้องถิ่น และประเทศ
3.2 ส่งเสริมการปลูกและวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ในท้องถิ่น ได้แก่ องค์ความรู้เทคนิคการปลูก/เพาะกล้า (ดิน/สภาพอากาศ) ห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบสภาพดินเพื่อลดปัญหาสารปนเปื้อนในการเพาะปลูก
3.3 ส่งเสริมความร่วมมือในการปลูก ผลิต แปรรูป จำหน่ายของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น
4.ด้านการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรค ขอให้กระทรวงสาธารณสุข
4.1 เพิ่มการเข้าถึงบริการรวมถึงขยายการจำหน่ายและการรักษาของหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน
4.2 เร่งผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แก่สถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน
4.3 บรรจุยากัญชาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
4.4 เพิ่มกลุ่มโรคและอาการในการรักษาด้วยสารสกัดกัญชา
5.การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ขอให้กระทรวงสาธารณสุข
5.1 เพิ่มการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์พื้นบ้านที่สนับสนุนการใช้กัญชาให้เพียงพอ โดยการเร่งรัดการผลิตบุคลากรการแพทย์ให้เพียงพอและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกัญชา และสนับสนุนให้บุคลากรในท้องถิ่นมีความรู้เรื่องกัญชาตามภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแพทย์แผนปัจจุบัน
5.2 สร้างเสริมความรู้และทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการปลูกกัญชา
5.3 สนับสนุนองค์ความรู้ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน/ท้องถิ่น ด้านการปลูก/สกัด/ผลิต, สูตรตำรับพื้นบ้าน และการรักษาตามภูมิปัญญาท้องถิ่น
6. การศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้และการวิจัย ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถาบันการศึกษา
6.1 จัดตั้งศูนย์รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาการเรื่องกัญชาระดับชาติและระดับท้องถิ่น ครอบคลุมการปลูก-ผลิต-กระจาย-สกัด-แปรรูป-ใช้ ทำหน้าที่รวบรวม กระจาย และเผยแพร่ จัดตั้งศูนย์เผยแพร่ภูมิปัญญาการปลูกของท้องถิ่น โดยเฉพาะพันธุ์ท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์เผยแพร่ความรู้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์สำหรับประชาชน และให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์กัญชา(เมล็ด/ต้นกล้า) สนับสนุนเมล็ดพันธุ์-ต้นกล้าเสมือนคลังข้อมูล
6.2 ส่งเสริมสนับสนุน.การวิจัยกัญชาภาคประชาชน ด้านการปลูก-ผลิต/แปรรูป และภูมิปัญญาท้องถิ่น
6.3 ส่งเสริมการวิจัยและศึกษากัญชาทางการแพทย์ เพื่อการรักษาเฉพาะโรค และครอบคลุมการส่งเสริมและป้องกันโรคด้วย.

ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ จ.ขอนแก่น