เมื่อเร็วๆนี้ ที่หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศรีสะเกษ) ดร.ชูวิทย์ นาเพีย รองอธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ ศิลปะสร้างปัญญา เล่าขานตำนานวิถีไทย พื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมเรียนรู้ในมิติวัฒนธรรม โดยมี ผศ.อธิชาติ บุญญยศยิ่ง รอง ผอ.สำนักส่งเสริมบริการวิชาการและงานทะเบียน มรภ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย ผศ.ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล รอง ผอ.สำนักงานส่งเสริมและบริการวิชาการ มรภ.ศรีสะเกษ นำคณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา นักศึกษาและกลุ่มเยาวชน จำนวนกว่า 300 คน ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
ผศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอน มักจะส่งเสริมให้เยาวชน เรียนรู้ความเข้าใจ ความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆแต่กลับไม่รู้คุณค่าและความภาคภูมิใจต่อแผ่นดินเกิดและภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้เรียนส่วนใหญ่มุ่งแข่งขัน เพื่อหวังเพียงคะแนน สร้างพฤติกรรมการชิงดีชิงเด่น ขาดทักษะชีวิต ยิ่งเรียนยิ่งหลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาบรรพบุรุษของตนเองว่าล้าหลัง หันไปยกย่องเชิดชูปัญญาและวัฒนธรรมต่างชาติ จนลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม
ดังนั้น งานศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้เล็งเห็นความสำคัญ ด้านการทำนุบำรุงมรดกศิลปะและวัฒนธรรม ได้บูรณาการร่วมกับกิจกรรมเรียนการสอน รายวิชาวิถีไทย เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้เรียนรู้ และสร้างสรรค์กิจกรรมด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมของชาติโดยใช้มิติด้านศิลปะการแสดงและสื่อสร้างสรรค์ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิดการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้แนวคิดแบบ entertain Education หรือการใช้ความบันเทิงและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้สอนและผู้เรียน เพื่อเป็นพลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษา
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีนักศึกษา จาก มรภ.ศรีสะเกษ สาขาครุศาสตร์ 6 สาขา ได้แก่สาขาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ปฐมวัย และประถมศึกษา และโรงเรียนต่างๆในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ให้ความสนใจนำเด็กนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนรู้ ได้เรียนรู้ และสร้างสรรค์กิจกรรมด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมของชาติโดยใช้มิติด้านศิลปะการแสดงและสื่อสร้างสรรค์ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิดการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้แนวคิดแบบ entertain Education หรือการใช้ความบันเทิงและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน และส่งเสริมกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้สอนและผู้เรียน เพื่อเป็นพลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาต่อไป.
พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา
ศรีสะเกษ //รายงาน