อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ จิคามา วีแกน ไซรัป ไซรัปจากมันแกวบรบือ ของดีของจังหวัดมหาสารคาม ผลไม้หรืออาหารราคาถูก เป็น Plant base Honey ผลักดันให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวของจังหวัดมหาสารคาม
วันที่12 กรกฎาคม 2566 เวลา 11.00 น . มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดตัวผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย “ไซรัปจากมันแกว” ซึ่งถือเป็นการนำมันแกวมาแปรรูปเป็นไซรัปเป็นครั้งแรกของโลก ค้นพบและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ สังกัดภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย ผู้ร่วมวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษกร ทองใบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณี สมัปปิโต และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีนวล จันทไทย ร่วมกับ หน่วยงานที่ให้ทุนพัฒนานวัตกรรมหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม หัวหน้าหน่วย ฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ สังกัดภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานชนิดใหม่ จิคามา วีแกน ไซรัป ทำจากมันแกว ผลผลิตที่ได้มีลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง รสชาติหอมหวาน เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ไม่มีสารปรุงแต่ง เป็นผลิตภัณฑ์วีแกน เหมาะกับทุกเพศวัย ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้หรือน้ำผึ้ง ตลอดจน ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะ Fructose Intolerance (ภาวะขาดความทนต่อฟรุกโทส) และ Irritable Bowel Syndrome (ภาวะลำไส้แปรปรวน : IBS) สามารถรับประทานได้ จิคามา วีแกน ไซรัป ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลจึงใช้ในปริมาณน้อยกว่า ผลิตภัณฑ์ จิคามา วีแกน ไซรัป เป็นผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จสมบูรณ์พร้อมจำหน่ายให้กับผู้สนใจ และยังพร้อมที่จะร่วมทุนการผลิต ตลอดจนเผยแพร่เทคโนโลยีการแปรรูป และผลักดันเป็นสินค้าประจำจังหวัดมหาสารคาม
โดยมีจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาจาก อาจารย์มีความสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมันแกว หรือภาษาสเปนเรียกว่า จิคามา(jicama) เหตุผลหลัก คือ มันแกวบรบือ ถือเป็นผลไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา การนำมันแกวมาแปรรูปเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันแกวผลสด ลดการสูญเสียมันแกว ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้คิดค้นวิธีการใช้ประโยชน์จากมันแกว โดยใช้น้ำตาลที่มีในน้ำมันแกว ทำการระเหยน้ำด้วยตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิต่ำ จนได้ปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสม โดยไม่มีการเติมแต่งสารใด ๆ
จิคามา วีแกน ไซรัป มีค่าความหวานมากกว่า 70 องศาบริกซ์ มีส่วนประกอบของน้ำตาล ฟรุคโตสต่อกลูโคสในปริมาณต่ำกว่า 1 ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะ Fructose Intolerance (ภาวะขาดความทนต่อฟรุกโทส) และ Irritable Bowel Syndrome (ภาวะลำไส้แปรปรวน : IBS) สามารถรับประทานได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 091-5649159 หรือ 089-2794564