ชาวบ้านเดือดร้อนร้องสื่อ ถูกสวมสิทธิ์แล้วเอาไปกู้ยืม ก่อนศาลมีคำพิพากษาให้ชนะคดีแล้ว แต่เมื่อไปขอหลักทรัพย์คืน กลับไม่คืนให้ ยอดหนี้ไม่ลดลง ซ้ำถอนหุ้นหรือเงินสะสมไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ
ที่บ้านหนองบาก สำโรง ต.สำโรง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอนาเชือก จ.มหาสารคาม ร้องเรียนต่อสื่อมวลชน กรณี ถูกเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรนาเชือก จำกัด อ.นาเชือก สวมสิทธิ์แล้วนำไปกู้ยืมเงิน ทำให้หลายคนต้องเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว กระทั่งมาพบว่าเป็นหนี้โดยที่ตัวเองไม่ได้กู้ยืม ก่อนจะสู้คดีในชั้นศาล ศาลประทับรับฟ้องอยู่ระหว่างพิจารณาคดี และมีบางคดีที่ศาลพิพากษาให้ชนะคดี โดยให้หนี้หรือสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะ แต่เมื่อชาวบ้านไปขอหลักทรัพย์คืน หรือไปขอดูยอดหนี้ที่ศาลพิพากษาให้เป็นโมฆะ กลับพบว่ายอดหนี้ยังคงอยู่ บางรายขอหลักทรัพย์คืนกลับถูกบ่ายเบี่ยง ทำให้ต้องมาร้องเรียนสื่อมวลชนเพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือดำเนินการ
นางสุพิษ วาปีนัง ผู้เสียหาย เล่าว่า ตนเองเป็นสมาชิกสหกรณ์(สหกรณ์การเกษตรนาเชือก จำกัด)แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน เคยกู้เงินทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งที่ 1-3 ได้ชำระหนี้จนหมดแล้ว คงเหลือเฉพาะการกู้เงินในครั้งที่ 4 ยอดเงิน 300,000 บาท ต่อมาเมื่อเดือน ตุลาคม 2556 ตนอยากจะกู้เงินจากสหกรณ์ จึงได้ไปติดต่อเพื่อขอกู้ โดยไม่ได้ระบุว่าจะกู้เท่าไหร่ โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ไปว่ากู้ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น เจ้าหน้าที่สินเชื่อจึงได้ให้เซ็นชื่อบนกระดาษเปล่าไว้ ต่อมาเจ้าหน้าที่บอกว่าเครดิตตนไม่ผ่าน แต่ก็ไม่ได้คืนเอกสารมาให้ มาทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่สหกรณ์ได้ทำการปลอมโดยการกรอกข้อความลงในคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงิน ว่าตนได้กู้เงินไปจำนวน 700,000 บาท ซึ่งตนไม่เคยทราบเรื่องเลย และไม่เคยได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ต่อมาปี 2561 มีใบทวงหนี้จากสหกรณ์มาทวงหนี้ที่บ้าน ตนเองตกใจมากเพราะไม่เคยมียอดหนี้จำนวนนี้ จึงได้ไปตรวจสอบที่สหกรณ์ จนกระทั่งทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเอง เป็นการทำเอกสารเท็จขึ้นมาเองทั้งหมด จนได้มีการทำบันทึกข้อตกลงว่า ทางเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว จะชดใช้ให้ โดยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และลงลายมือชื่อทายาทไว้เป็นหลักฐานในการชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ผ่านมา 3 ปี ก็ไม่มีการชดใช้สักบาท จึงได้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม และให้ทนายดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดี โดยตอนนี้ชนะคดีแล้ว ศาลพิพากษาว่าให้หนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 700,000 บาทนั้นเป็นโมฆะ ถึงแม้ว่าตนจะชนะคดี ตั้งแต่เดือน มีนาคม 66 ที่ผ่านมา แต่เมื่อไปติดต่อที่สหกรณ์ เพื่อขอดูยอดเงิน กลับปรากฏว่าทางสหกรณ์ยังไม่แก้ไขยอดหนี้ให้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
นายประจักร ปะทังวา ผู้เสียหาย เล่าว่า ตนเองเป็นสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้ ที่ผ่านมาตนเองได้นำหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน ไปค้ำประกัน เพื่อกู้เงินกับสหกรณ์ 2 ครั้ง เมื่อปี 2557 และปี 2561 เป็นยอดหนี้ 640,000 บาท และเมื่อปลายปี 61 ตนเองถือเงินจะไปใช้หนี้สหกรณ์ กลับพบว่าตนเองมียอดหนี้สูงถึง 998,000 บาท ก็ตกใจ เพราะไม่คิดว่ายอดหนี้จะสูงขนาดนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ตนได้มีการกู้เงินอีก 2 ครั้ง เป็นเงิน 318,000 บาท ซึ่งยอดนี้ ตนยืนยันว่าไม่ได้กู้เงินจำนวนดังกล่าวมา จึงไม่ยอมชำระหนี้ แต่ทางเจ้าหน้าที่สหกรณ์แจ้งว่าให้ใช้หนี้ก่อนแล้วจะทำสัญญาใหม่ ตนมองว่าหากวันนั้นตนใช้หนี้ไปแล้วทำสัญญาใหม่ขึ้นมา ก็เท่ากับว่า เรายอมรับสภาพหนี้กว่า 900,000 บาท จึงตัดสินใจไม่ชำระเงิน ซึ่งระหว่างนั้นมีการเจรจาไกลเกลี่ยกันมาโดยตลอด โดยให้ทางสหกรณ์เคลียร์หนี้ที่ไม่ได้กู้ยืมมาออกให้ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ซึ่งตนยอมรับหนี้ที่ตนกู้ยืมมาจำนวน 640,000 บาท แต่ไม่ยอมรับหนี้ที่ไม่ได้กู้ อีก 318,000 บาท หากรวมกันจะเป็นยอด 998,000 บาท หากรวมดอกเบี้ยจะเป็นยอดตัวเลขกลม ๆ ที่ 1,400,000 บาท
ต่อมาปี 63 ทางสหกรณ์ขอให้ทำสัญญาขอปรับลดดอกเบี้ยและค่าปรับ ตนเห็นว่าค้างชำระนานแล้ว จึงได้ทำสัญญา ซึ่งต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนเพื่อประกอบเอกสาร แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่สหกรณ์นำสำเนาบัตรประชาชนของตนไปแนบกับสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทำปลอมขึ้นมาทั้งฉบับ โดยที่ตนไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ซึ่งลายเซ็นในสัญญา และลายเซ็นในสำเนาบัตรประชาชนก็ไม่เหมือนกัน ตอนนี้ตนได้มอบหมายให้ทนายดำเนินการฟ้องร้อง โดยศาลได้มีการไต่สวนพบว่าคดีมีมูล มีการปลอมลายมือชื่อตนจริง เรื่องอยู่ระหว่างศาลพิจารณา ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และขอให้ตรวจสอบการทำงานของสหกรณ์ด้วยว่ามีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าใบเสร็จของสหกรณ์ จะไม่มีเล่มที่ เลขที่ ซึ่งเป็นการเอื้อในการปลอมแปลงเอกสารได้
ด้านนายสุรเชษฐ์ ประสมศรี ทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของทนายความนั้นได้มีชาวบ้านที่เป็นผู้เสียหายติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามามากกว่า 30 คน มีทั้งเข้ามาขอคำปรึกษาแล้วให้ทนายความดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลให้ก็มี ซึ่งจากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกกลุ่มนี้จะพบว่า ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะถูกสวมสิทธิ์แล้วนำไปกู้ยืมเงิน หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นหนี้โดยที่ตัวเองไม่ได้กู้ยืม หรือไม่ได้รับรู้ด้วย กระทั่งมาพบว่าตัวเองได้เป็นหนี้ในภายหลัง ซึ่งตอนนี้ตนได้ดำเนินการฟ้องร้องสหกรณ์อยู่หลายคดี และที่ผ่านมาศาลจังหวัดมหาสารคามได้มีคำพิพากษาไปแล้ว 4 คดี ซึ่งศาลได้คืนความยุติธรรมให้กับชาวบ้านด้วยการมีคำพิพากษาให้หนี้หรือสัญญากู้ยืมเงินของชาวบ้านนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากพยานและหลักฐานที่ปรากฏต่อศาล เชื่อได้ว่าชาวบ้านไม่ได้กู้ยืมเงินจริง ๆ
และล่าสุดไม่กี่วันที่ผ่านมาศาลจังหวัดมหาสารคามได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่สหกรณ์แห่งนี้ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาปลอมลายมือชื่อสมาชิกและนำเอกสารสิทธิ์ของสมาชิกไปกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปีนั้น แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังคงมาทำงานอยู่ที่สหกรณ์ และไม่ได้ถูกให้ออกจากงานแต่อย่างใด ทำให้ชาวบ้านหรือสมาชิกหลาย ๆ คน ตั้งคำถามว่าเหตุใดสหกรณ์ ยังคงให้เจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมทุจริตเกี่ยวกับเงินสมาชิกและถูกศาลลงโทษจำคุก 2 ปี ยังคงทำงานอยู่ในสหกรณ์แห่งนี้ได้ ทั้ง ๆ ที่ศาลลงโทษจำคุกไปแล้ว และปัจจุบันก็ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการที่สมาชิกฟ้องร้องดำเนินคดีกับทางสหกรณ์อยู่ ซึ่งถ้าหากเจ้าหน้าที่คนนี้เข้าไปทำลายพยานหลักฐานหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานก็จะส่งผลเสียต่อการดำเนินคดีต่อศาลได้
จากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรจำนวนหลายรายที่เป็นกลุ่มสมาชิกนั้น ได้สร้างความเดือดร้อนขึ้นในชุมชนและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอันเกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตร ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง เนื่องจากชาวบ้านที่เป็นผู้เสียหายทั้งหมดเป็นเกษตรกร การจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นมีภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทางไปศาล ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ลายมือ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการขึ้นศาล ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายคนได้ดำเนินการไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กลุ่มสมาชิกได้ จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจหน้าที่ที่มีให้เต็มที่ แล้วเข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้กับชาวบ้าน เนื่องจากหน่วยงานของรัฐนั้นมีตัวบทกฎหมายที่ควบคุมและกำกับดูแลโดยตรงอยู่แล้ว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจหน้าที่ให้เต็มที่ก็จะทำให้ชาวบ้านไม่ต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีเอง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านหลายคนเป็นคนที่มีฐานะยากจนจึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี