ปิ๊งไอเดียนำทุเรียนภูเขาไฟ-กระเทียม-ข้าวหอมมะลิ ของดีศรีสะเกษ แปรรูปเป็นเบเกอรี่เลิศรส เน้นใส่ใจ “ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้าแต่ลูกค้าทุกคนคือญาติสนิท”
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 ที่ร้านบ้านสีส้มเบเกอรี่ เลขที่ 42 ม.9 ต.หนองฉลอง อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นร้านของ นายธรรมศักดิ์ เรืองชัยจตุพร อายุ 39 ปี ที่ทำร่วมกันกับภรรยา เริ่มแรกเริ่มต้นทำคุ๊กกี้ด้วยสูตรของร้าน จากข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จากนั้นได้คิดค้นสูตรขนมใหม่ๆ มาเรื่อยๆ กระทั่งถึงเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อรสชาติ อร่อย มีความหวานมัน เนื้อสัมผัสแห้งเนียนเหนียว กลิ่นหอมละมุน สีเนื้อเหลืองสวย นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในส่วนผสมของขนมต่างๆภายในร้าน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากลูกค้า
โดย นายธรรมศักดิ์ เรืองชัยจตุพร เล่าว่า เดิมทีตนและภรรยาริเริ่มเปิดร้านเบเกอรี่หลายรูปแบบ อาทิ เค๊ก และขนมปัง เพราะในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ที่ตนอยู่นั้น ไม่มีร้านเบเกอรี่ที่ใช้วัตถุดิบหลักในพื้นที่ และผลิตโดยไม่มีการใช้สารกันบูด จากนั้นภรรยาตนค้นพบว่ามีความสุขและความชื่นชอบในการทำเบเกอรี่ และมีความถนัดอย่างมากๆ โดยได้รับคำแนะนำ จากอุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ และจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่7 นำเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูป ให้มีความเป็นขนมสากลระดับโลก
โดยพยายามคิดค้นว่าทำอย่างไรขนมจะเป็นสากลจากวัตถุดิบในพื้นที่ จึงเริ่มตั้งโจทย์จากวัตถุดิบอย่างข้าวหอมมะลิแท้ของอำเภอขุขันธ์มาแปรรูปเป็นคุ๊กกี้ต่างๆ นำกระเทียมศรีสะเกษมาทำขนมปังอบกระเทียม และอีกอย่างในพื้นที่ที่ขึ้นชื่อคือผลไม้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เราจึงได้นำทุเรียนหมอนทอง ที่ปลูกจากดินภูเขาไฟศรีสะเกษ มาเป็นวัตถุดิบตามฤดูกาล ทำเป็นขนมเปี๊ยะทุเรียนลาวา ทำเป็นขนมปังสอดไส้ คุกกี้สอดไส้ ขนมปังอบกรอบ และขนมทุเรียนทองขุขันธ์
ซึ่งขนมจากร้านของตน ยังได้มีโอกาส ใช้เป็นอาหารว่างเลี้ยงรับรองต้อนรับแขกต่างประเทศ ขณะนั้นเป็น อัครราชทูตโอบะ ยูอิจิ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะ ที่เดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก่อนรังสรรค์ ทางร้านก็ได้ตั้งโจทย์ ศึกษา ขนบทำเนียมประเพณี ผสมผสานกับวัตถุดิบ ท้องถิ่น จนเกิดมาเป็น ขนมทุเรียนทองขุขันธ์ ทานคู่กับน้ำชาร้อนๆรสเลิศ มีส่วนประกอบจากทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษที่ขึ้นชื่อ สำหรับร้านเราไม่ใช่ลูกค้าคือพระเจ้า แต่ลูกค้าทุกคนคือญาติสนิท
ด้าน นางสาวธิดาลักษณ์ แก้วคูณ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ และร่วมด้วยศูนย์ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมในเรื่องเข้าโครงการ และมาตราฐานการยกระดับส่งเสริมด้านความรู้ทางธุรกิจ และกิจการต่างๆ การหาช่องทาง การสร้างเครือข่าย อย่างเช่นร้านเบเกอรี่ร้านนี้ ยังไม่ได้ขยายไปนอกพื้นที่มากนัก ยังรู้จักเพียงในพื้นที่ตัวอำเภอและจังหวัด จึงอยากให้เป็นร้านสตาร์ทอัพ เพื่อให้แนวทางการผลิต การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ แนวทางสร้างเครือข่าย กรอบแนวทางคือจะอิงวัตถุดิบในจังหวัด มียุทธศาสตร์ในเรื่องของข้าว หอม กระเทียม และทุเรียน ผู้ประกอบการรายนี้ ทำเกี่ยวกับเบเกอรี่ จึงสามารถนำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดศรีสะเกษ มาเป็นส่วนประกอบของวัตถุดิบทำเบเกอรี่.
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงาน