จังหวัดเลยจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์โบราณสถานวัดห้วยห้าว


เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 24 เม.ย.66 ที่วัดห้วยห้าว ต.นาอ้อ อ.เมืองเลย จ.เลย นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลยเป็นประธาน งานสืบสานประเพณีสงกรานต์โบราณสถานวัดห้วยห้าวประจำปีพ.ศ.2566 มีข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน วัฒนธรรมจังหวัดเลย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงาน ลูกจ้างเทศบาลตำบลนาอ้อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนชาวตำบลนาอ้อ ตำบลชัยพฤกษ์ ตำบลเมือง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลยร่วมงาน


นางกองเพ็ชร ศรียาขำ นายกเทศมนตรีตำบลนาอ้อกล่าวว่า งานสืบสานประเพณีสงกรานต์โบราณสถานวัดห้วยห้าว เป็นกิจกรรมของชาวตำบลนาอ้อ เพื่อเป็นการทำหน้าที่ทำนุบำรุงโบราณสถาน อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดเลย ร่วมกับ เทศบาลตำบลนาอ้อ และประชาชนในพื้นที่ชุมชนตำบลนาอ้อ ร่วมกัน งาน”สืบสานประเพณีสงกรานต์โบราณสถานวัดห้วยห้าว” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ อนุรักษ์สืบสาน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เห็นความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่า ของมรดกโบราณสถานซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้ที่สนใจสามารถศึกษา ค้นคว้า และช่วยกันทำนุบำรุงให้คงอยู่คู่บ้านเมืองตลอดไป


ด้านนายสัมฤทธ์ สุภามา อดีต ผอ.สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลยเปิดเผยว่า วัดห้วยห้าว หรือ วัดขั้นบันใดใหญ่ หรือวัดวังแท่น สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระโพธิศาลราชเจ้า พ.ศ.2063-2090 ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ประกาศขยายเนื้อที่วัดเพิ่มเติม พ.ศ.2150 ซึ่งมีกษัตริย์ล้านช้างบูรณะปฏิสังขรณ์เสมอมา จึงสันนิฐานได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดหลวงที่สำคัญอย่างยิ่งวัดหนึ่ง และจากข้อมูลการสำรวจเท่าที่มีอยู่ ปรากฏว่าวัดห้วยห้าวเป็นวัดของกษัตริย์ล้านช้างเพียงวัดเดียวในจังหวัดเลย วัดห้วยนับเป็นชุมชนโบราณจากข้อความจารึกในแผ่นศิลา 2 แผ่นของวัดห้วยห้าว เมืองฝางมีความเกี่ยวพันอยู่กับ กษัตริย์ล้านช้างรวม 3 สมัย คือ จารึกแผ่นที่ 1 พระโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 32 พระไชยเชษฐาธิราบสร้างวัดห้วยห้าว จารึกแผ่นที่ 2 พระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชกษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 39 บูรณะปี พ.ศ.2150

ปัจจุบันสภาพชุมชนเมืองฝาง กับวัดห้วยห้าว มีโบราณสถานที่ยังเหลืออยู่เพียงซากอุโบสถอีสานโบราณและพุ่มกลีบบัวศิลปะล้านช้างด้วยการใช้ปูนซีเมนต์แบบโบราณที่ประกอบด้วยยางบง ผสมปูนขาวและหนังสัตว์สามารถยึดเหนี่ยวสภาพอาคารโบราณดังกล่าวไว้

แม้กาลเวลาจะผ่านมาหลายร้อยปีวัดห้วยห้าวเมืองฝาง ซึ่งมีบริเวณพื้นที่นับพันไร่ตามหลักฐานในจารึกฯที่มีการบูรณะวัดห้วยห้าวครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2150 นับเป็นเวลา กว่า 400 ปีและเป็นหลักฐานยืนยันให้ทราบถึงความเกี่ยวพันในอาณาเขตสองฝากฝั่งแม่น้ำโขงส่วนวัดห้วยห้าวเมืองฝางล่มสลายลงด้วยประการใดไม่มีจารึกไว้


ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์ / จ.เลย