ศรีสะเกษ (ชมคลิป) นักเที่ยวแห่ “เซลฟี่” “ดอกขี้กาก” กลางทุ่งนารับลมหนาว

เริ่มหนาว อุณหภูมิลดต่ำสุด 14 องศา ชาวบ้าน-นักท่องเที่ยว แห่เชลฟี่ดอกกระดุมเงิน-กระดุมทอง กลางนา คึกคัก

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่ จังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงนี้อากาศได้หนาวเย็นลง อุณหภูมิลดลงเหลือ 14 องศา วันนี้ได้มีผู้พบเห็นทุ่งดอกกระดุมเงิน – กระดุมทอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดอกขี้กาก” ซึ่งเป็นวัชพืชของต้นข้าวของเกษตรกร แต่วันนี้หลังเก็บเกี่ยวข้าวออกไปแล้ว ดอกกระดุมเงิน – กระดุมทอง ยืนต้นสูงขึ้น ราว 50 เซนติเมตร แทงช่อดอกบานสะพรั่ง โดยกระดุมเงิน จะออกดอกสีขาวเงิน และกระดุมทองจะออกดอกสีเหลืองทอง โคนดอกสีน้ำตาลแก่ สลับไปกันเต็มทุ่งนา สวยงามยิ่งนัก ลูกสาวชาวบ้านได้ถ่ายรูปลงในเฟสบุค เพื่อนๆ พบเห็น ต่างพากันสอบถามว่า อยู่ที่ไหน และได้พากันแห่เข้าไปถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เริ่มทราบ เพราะความสวยงามดังกล่าว เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีใครปลูกได้ พบพื้นที่แปลงนาที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ได้ใช้สารเคมี ในการทำนาข้าว โดยขณะนี้พบอยู่บนแปลงนาเป็นบริเวณกว้าง กว่า 16 ไร่ กำลังบานสะพรั่งสวยงาม ภายใต้อากาศที่หนาวเย็น อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านลิ้นฟ้า ตำบลลิ้นฟ้า อำเภอยางชุมน้อย ห่างจากตัวเมืองศรีสะเกษ ราว 20 กิโลเมตร องค์การบริหารส่วนตำบลลิ้นฟ้า เตรียมพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด และนักท่องเที่ยว ยังพบว่ามีต้นตะแบก ที่ขึ้นอยู่ปากทางเข้าทุ่งนาแปลงที่มีดอกกระดุมเงิน – กระดุมทอง เกิดขึ้น เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะเหมือนกับต้นไม้แห่งเวทมนต์ ในภาพยนต์เรื่อง แฮรี่พอตเตอร์ ด้วย

นายรุ่งโรจน์ เสาเวียง รองนายก อบต.ลิ้นฟ้า กล่าวว่า ที่นี่คือทุ่งนาบ้านลิ้นฟ้า หมู่ที่ 10 ซึ่งแปลงนาตรงนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่การเกษตร ที่มีต้นกระดุมเงินกระดุมทอง ซึ่งชาวบ้านแถบนี้ถือว่าต้นดอกไม้ชนิดนี้เป็นดอกไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติทั่วไป ที่เห็นเป็นปกติทุกวันแต่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปีต้นไม้ชนิดนี้ก็หายไปซึ่งในภาคอีสาน เราจะเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่าต้น “ขี้กาก” ซึ่งถือว่าเป็นวัชพืชที่ทำให้ท้องนาเสียหาย แต่ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงเห็นความสำคัญของดอกไม้ชนิดนี้ ที่มีลักษณะคล้ายเม็ดกระดุม จึงทรงพระราชนามว่า ดอกกระดุมเงิน – กระดุมทอง หรือ “ดอกมณีเทวา” มีในพื้นที่นี้เดียวกัน เป็นพันธุ์ไม้ที่เกิดขึ้นในแปลงนาข้าว และที่สำคัญที่เกิดขึ้นก็เพราะว่า ที่นาดังกล่าวไม่มีสารเคมี จึงจะเกิดพันธุ์ไม้ชนิดนี้ได้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลลิ้นฟ้า และชาวลิ้นฟ้าเล็งเห็นความสำคัญว่าทำอย่างไรจะอนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเราได้มาดูตรงนี้ว่า ธรรมชาติยังคงสมบูรณ์อยู่ ซึ่งเป็นแห่งเดียวในโลก ที่ยังมีดอกกระดุมเงิน – กระดุมทอง กว่า 16 ไร่ ยังพื้นที่ตรงนี้ อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเราคิดว่าจะพลิกธรรมชาติตรงนี้ให้เป็นโอกาส ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก ได้มาอินกับธรรมชาติ สำหรับผู้ที่รักษ์ในธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวก็กำลังตามหาธรรมชาติที่หายไป วันนี้ธรรมชาติที่มีแต่ดั้งเดิมอยู่ที่นี่ก็คือทุ่งกระดุมเงินกระดุมทอง

เบื้องต้นองค์การบริหารส่วนตำบลลิ้นฟ้า ที่มีพื้นที่ตรงนี้ที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เราอยากให้ที่นี้เป็นแลนด์มาร์ก เราได้เริ่มคุยกับผู้นำฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน เราเริ่มคุยกับชาวบ้าน คุยว่าพื้นที่ตรงนี้ นอกจากเราได้ผลผลิตจากข้าวนาปีที่เราทำแล้ว และสิ่งเหล่านี้ทุกคนเริ่มเห็นคุณค่า เรากำลังระดมความคิด เราว่าอยากพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์กของตำบลลิ้นฟ้า และจังหวัดศรีสะเกษ อย่างน้อยถ้าหากวันนี้ มีคนทราบข่าว และเดินทางมาดู ผมเชื่อมั่นว่าเขาจะสนับสนุนแนวคิดนี้ และเราก็จะมีการเริ่มต้นที่ดี แต่ตอนนี้เรียนว่าองค์การบริหารส่วนตำบลลิ้นฟ้า และผู้นำเริ่มต้นในการคิดที่จะทำให้มีสิ่งนี้ตลอดไปครับ

ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน