กาฬสินธุ์(ชมคลิป)ชาวบ้านขอปรับปรุงสะพานข้ามคลองเชื่อมถนนหวั่นเกิดอุบัติเหตุ


ชาวบ้านในตำบลคำเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองส่งน้ำของชลประทานให้เชื่อมกับแนวถนน หลังพบตัวสะพานยังยกสูงจากระดับเดิมกว่าครึ่งเมตร ไม่ตรงตามแนวถนนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 ระบุก่อสร้างตามแบบ พร้อมลงพื้นที่ทำความเข้าเตรียมขยายสะพานให้ยาวออกไปอีกและเชื่อมกับถนน
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณคลองส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำวังลิ้นฟ้า กลางทุ่งนาบ้านคำมะโฮ หมู่ 7 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายกเทศมนตรีตำบลคำเหมือดแก้ว พร้อมด้วยนายโชคดี แก้วเก็ตคำ ปลัด ทต.คำเหมือดแก้ว นายวันชัย คำแหงพล ประธานสภา ทต.คำเหมือดแก้ว นายบพิตร งอมสระคู กำนัน ต.คำเหมือดแก้ว เจ้าหน้าที่กองช่าง สมาชิกสภา ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจำนวน 30 คน ร่วมกันเข้าตรวจสอบการก่อสร้างสะพานคอนกรีตของโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ หลังชาวบ้านร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขให้เชื่อมโยงและเหมาะสมกับพื้นที่ถนน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายกเทศมนตรีตำบลคำเหมือดแก้วกล่าวว่า ตนและสภาเทศบาลตำบลคำเหมือดแก้ว ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ว่าทางโครงการชลประทานฯ ได้ก่อสร้างสะพานคอนกรีต ข้ามคลองส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำวังลิ้นฟ้า แต่การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแนวถนนเดิม คือแนวถนนเดิมระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของคลอง ส่งน้ำดังกล่าว จะเป็นลักษณะเส้นตรงข้ามคลอง แต่ตามที่มาดูรูปแบบการก่อสร้างสะพานใหม่ เหมือนจะให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเลี้ยวหักศอกหรือเลี้ยวมุมแคบหัวสะพาน ซึ่งหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายในการสัญจรและขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จึงได้ขอให้ทางโครงการชลประทานปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างใหม่ให้เชื่อมกับถนนเดิม
ด้านนายบพิตร งอมสระคู กำนัน ต.คำเหมือดแก้ว กล่าวว่า เดิมมีการวางท่อระบายน้ำ 6 ท่อนเพื่อทำถนน ให้ประชาชนสัญจรผ่านไปมาได้ แต่จากการดูโครงสร้างของสะพานคอนกรีตที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งไม่ตรงจากแนวถนนเดิม นอกจากนี้ยังยกระดับตัวสะพาน ให้สูงกว่าระดับถนนเดิมประมาณ 1 เมตร เท่าที่สอบถามช่างที่ควบคุมการก่อสร้าง ระบุว่าหลังจากก่อสร้างสะพานเสร็จอยากให้มีการเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าออก และมีการถมที่และหนองน้ำที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพื่อให้ฝั่งตรงข้ามเป็นแนวเส้นตรงกับตัวสะพาน ซึ่งดูแล้วเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากทางโครงการชลประทาน จะปรับรูปแบบตัวสะพานใหม่ โดยขยายความยาวมาทางด้านทิศเหนืออีก เพื่อให้ตรงหรือใกล้เคียงกับแนวถนนเดิม ที่จะทำให้การสัญจรสะดวกขึ้น ก็จะง่ายกว่าที่จะย้ายเสาไฟฟ้าออก และไม่เสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุ
ด้านนายอนุพงษ์ สามารถ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองส่งน้ำดังกล่าว ดำเนินการเมื่อเดือนต้นมกราคม 2565 เป็นสะพานคอนกรีต กว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ก่อนก่อสร้างมีการสำรวจพื้นที่ และสร้างตามแบบ เพื่อให้เกษตรกรได้สัญจร ขนส่งสินค้าเกษตรได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยพื้นสะพานได้ออกแบบให้ท้องสะพานสูงกว่าระดับน้ำในตัวคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชไหลมาติดใต้สะพาน และเวลาทำความสะอาดก้นคลอง จะได้สะดวกในการเก็บกวาดตะกอนทราย ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ทั้งนี้ในส่วนที่ชาวบ้านต้องการให้การก่อสร้าง มีการขยายสะพานให้ยาวออกไปอีก เพื่อให้เป็นแนวตรงกับถนนทั้ง 2 ฝั่ง ก็จะได้ดำเนินการให้โดยเร็ว ซึ่งได้มีการพูดคุย ทำความเข้าใจกับสภาเทศบาลตำบลคำเหมือดแก้วและชาวบ้านแล้ว ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวก ให้เดินทางสัญจร ขนส่งสินค้าการเกษตรและเดินทาง ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการสัญจร