ขอนแก่น–สำนักงาน ป.ป.ช.ขอนแก่น และชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต พัฒนาศักยภาพสมาชิก ขยายเครือข่าย และทำงานรุกสู่ชุมชนหมู่บ้าน

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 นายกุล ภาคเดียว ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดขอนแก่น มอบหมายให้ นายประสิทธิ์ ปาปะกัง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดขอนแก่น ร่วมมือกับชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น โดยการนำของ นายสุวิทย์ อินนามา ประธานและคณะกรรมการบริหารชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น ในการจัดกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำ สร้างความตระหนักรู้ถึงการป้องกันการทุจริตผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่อต้านทุจริต จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้เข้าประชุมเป็นภาคประชาชนที่สนใจในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และสมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดขอนแก่น ที่มาจากทุกอำเภอ ทั้ง 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น จำนวน 50 คน ที่ห้องประชุมโรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ขอนแก่น

นายสุวิทย์ อินนามา ประธานชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ชมรมมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ปลูกฝังจิตพอเพียงต้านทุจริต ด้วยโมเดล STRONG แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 2.ปลูกวิธีคิด แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งความอายและไม่ทนต่อการทุจริตแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 3.ขยายผลการป้องกันทุจริตเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 4.ขยายผลการรับรู้การทุจริตต่อประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด และ 5.ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือชมรมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ด้วย

การที่จะสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วนแบบบูรณาการและการพัฒนากระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการไปปฏิบัติจริง มีการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประกอบหลักการต่อต้านการทุจริต เพื่อสร้างฐานคิดจิตพอเพียงต้านทุจริตให้เกิดขึ้น ส่วนปี 2565 นี้จะการพัฒนาการเรียนรู้และการขยายเครือข่าย ได้แก่ เปิดเวทีและนำเสนอแนวคิดทิศทางการพัฒนาชมรม รวมทั้งการสร้างต้นแบบชมรม หรือศูนย์เรียนรู้การป้องกันและป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชน หน่วยงานและองค์กร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเสนอผลงานของชมรมและพื้นที่ต้นแบบปลุกจิตสำนึกและสร้างเครือข่ายของชมรม การเฝ้าระวังและติดตามปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะ การทุจริตของโครงการก่อสร้างรูปแบบวิธีการขยายเครือข่ายในระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านอีกด้วย.

ไพฑูรย์ พรหมเทศ ผู้สื่อข่าวจังหวัดขอนแก่น รายงาน