ศรีสะเกษ – ใจชื้น! ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเป็น 0 วันแรกของการระบาดระลอกใหม่

ขณะที่ผู้ว่าฯศรีสะเกษ นำทีมตั้งโรงพยาบาลสนามพร้อมดูแล ปชช.
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่อาคารพลศึกษาวีสมหมาย สนามกีฬา อบจ.ศรีสะเกษ ถนนเลี่ยงเมือง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พล.ต.ต.สันติ เหล่าประทาย ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายก อบจ.ศรีสะเกษ พร้อมจิตอาสา ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยร่วมกันกางเตียง โรงพยาบาลสนาม ที่ทาง เอสซีจี เอสซีจีพี และมูลนิธิเอสซีจี ได้บริจาคเตียงสนามกระดาษเอสซีจี เพื่อใช้ประจำโรงพยาบาลสนาม เบื้องต้น จำนวน 50 ชุด ซึ่งอาคารดังกล่าวสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด จำนวน 100 เตียง
ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 จ.ศรีสะเกษ รายงานข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพบว่ามีตัวเลข เป็น 0 ไม่มีผู้ติดเชื้อเป็นวันแรกนับจากการระบาดระรอกใหม่ แต่ยังคงมียอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมด จำนวน 183 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว จำนวน 37 ราย และยังรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลอีก จำนวน 146 ราย
ด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามที่ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ขณะนี้พบว่ามีทั้งหมด 17 คลัสเตอร์ และถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า คลัสเตอร์ส่วนใหญ่ ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมแล้ว และส่วนใหญ่ก็หมดแล้ว จบแล้ว แต่ก็ต้องเฝ้าระวังคลัสเตอร์ใหม่ๆเข้ามา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ รวมถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอสม. ได้มีการคุมเข้มเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ปฏิบัติการเชิงรุกตรวจค้นหานำผู้เข้ามายังพื้นที่ทุกราย มาเข้าสู่ระบบการตรวจสอบอย่างเข้มข้นทุกวัน ซึ่งวันนี้ถือเป็นเป็นข่าวดี ที่ จ.ศรีสะเกษ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 คือไม่มีผู้ติดเชื้อเป็นวันแรก นับจากการระบาดระลอกใหม่ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ประมาท อยากจะบอกพี่น้องชาว จ.ศรีสะเกษ ว่าเราร่วมกันมาดีแล้ว เราควรร่วมกันต่อไป อดทน อดใจ เข้มข้นกับมาตรการ อีกสักระยะหนึ่ง
ในส่วนของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะเป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วยประเภทมีอาการไม่มาก สามารถที่จะมาอยู่รวมกันในช่วงแรกๆ การจัดให้อยู่รวมกันลักษณะนี้ จะทำให้การบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น แพทย์ พยาบาล ไม่กี่คน ก็จะสามารถที่จะอำนวยการดูแลได้อย่างทั่วถึง และหากมีสถานการณ์อะไรต่างๆก็สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที รวมถึงหากผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้น ก็จะสามารถนำส่ง รพ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ไม่ไกล ได้อย่างทันท่วงที และจะมีกิจกรรมนันทนาการให้ผู้ป่วยไม่เครียดมากจนเกินไปในขณะที่อยู่รวมกันในโรงพยาบาลสนามอีกด้วย.

พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา ศรีสะเกษ