(ชมคลิป)เกษตรนครพนม แนะเทคนิคเก็บเกี่ยวข้าวให้เกษตรกรได้ผลิตคุณภาพสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น


วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่จังหวัดนครพนม นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เกษตรกรเริ่มที่จะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในแปลงนาของตนเองแล้ว โดยข้าวที่เริ่มเพาะปลูกมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเริ่มที่จะสุกและสามารถเก็บเกี่ยวได้บางส่วนแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเรามักพบว่าเกษตรกรหลายรายยังมีปัญหาในเรื่องของการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวให้มีคุณภาพและได้ปริมาณที่สูงเนื่องจากเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้องเหมาะสมกับช่วงเวลา ซึ่งวิธีการสังเกตว่าข้าวมีความเหมาะสมสามารถที่จะเก็บเกี่ยวได้นั้น คือเมื่อข้าวเริ่มออกดอกประมาณ 80% ทั้งแปลงให้ถือเป็นวันออกดอก จากนั้นนับไปอีก 28 – 30 วัน ก็จะครบกำหนดวันเก็บเกี่ยวข้าวที่เหมาะสม โดยในช่วงนี้เมล็ดข้าวจะมีความชื้นประมาณ 20-25 % และถ้าในแปลงนามีน้ำขังอยู่ก็ขอให้เกษตรกรระบายน้ำออกจากแปลงนาก่อนถึงวันครบกำหนดเก็บเกี่ยวประมาณ 7 – 10 วัน เพื่อให้แปลงนาแห้งทันกับการเก็บเกี่ยวข้าวที่สุกแก่สม่ำเสมอ ซึ่งจะสะดวกไม่ว่าจะใช้คนหรือเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว หากเกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวข้าวก่อนหรือหลังช่วงเวลาที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้ข้าวสูญเสียน้ำหนักและคุณภาพไป


ส่วนการนวดข้าวนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่ทุกวิธีจะต้องระวังการสูญเสียปริมาณข้าวจากการร่วงหล่น กระเด็นติดไปกับฟางข้าว เมล็ดเกิดการแตกร้าวหรือแตกหัก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใช้คนนวดข้าวจะไม่เสียคุณภาพ มีการสูญเสียน้อย แต่ต้องใช้เวลาและเปลืองแรงงานมากจึงไม่เหมาะกับการทำนามาก ๆ แต่เหมาะกับข้าวที่จะเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ ส่วนการนวดโดยใช้เครื่องนวดจะมีความสะดวกรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายต่ำ เหมาะกับเกษตรกรที่มีการทำนามาก ๆ และใช้คนเกี่ยว และถ้าใช้รถเกี่ยวข้าวเครื่องจะทำการเกี่ยวและนวดข้าวบรรจุใส่ถังหรือกระสอบได้เลย ซึ่งวิธีนี้ความสูญเสียข้าวขึ้นอยู่กับความเร็วของรถเกี่ยว อายุข้าว ความชื้นเมล็ดข้าว และการล้มของต้นข้าวในแปลงนา เพราะฉะนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับแปลงนาของตนเอง ส่วนการตากข้าวเพื่อลดความชื้นนั้นหลังจากเก็บเกี่ยวและนวดข้าวแล้วจะต้องรีบตากหรือลดความชื้นเมล็ดข้าวให้แห้งเร็วที่สุด เพื่อลดอัตราการหายใจของเมล็ดข้าวที่จะทำให้เมล็ดข้าวมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากเกิดเชื้อรา ข้าวเหลือง ข้าวเน่าและข้าวคุณภาพต่ำทั้งยังจะส่งผลต่อราคาจำหน่ายด้วย ซึ่งการลดความชื้นของเมล็ดข้าวให้เหลือประมาณ 14 % จะทำให้สามารถเก็บข้าวได้นาน 2 -3 เดือน แต่ถ้าหากต้องการเก็บได้มากกว่านั้นเกษตรกรต้องลดความชื้นให้ต่ำกว่า 12 %