เลย(ชมคลิป)กรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร ติดตามการฟื้นฟูเหมืองทุ่งคำ


วันนี้ (10 พ.ย.63) เวลา 09.30 น. นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้การต้อนรับ นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายสมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ นายนิติพล ผิวเหมาะ รองประธานกรรมาธิการ รศ.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ โฆษกกรรมาธิการ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการทำเหมืองแร่ทองคำ และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชุมชนโดยรอบเหมือง โดยมี นายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พันเอกสมหมาย บุษบา รอง ผอ.กอ.รมน.จ.เลย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด และภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ให้การต้อนรับ เพื่อร่วมรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเหมืองแร่ทองคำในเขตตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ซึ่งมีประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีข้อกังวล คือการยกเลิกสัมปทานบัตร การการเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่ทองคำ และยังมีปัญหามลพิษจากสารไซยาไนด์ สารหนู จากกระบวนการทำเหมืองที่ตกค้างและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนโดยรอบเป็นวงกว้าง ถึง 13 หมู่บ้าน เนื่องจากพื้นที่เหมืองเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของจังหวัดเลย ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้เป็นห่วงตามข้อร้องเรียนของประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ ผลกระทบจากสารพิษที่รุนแรง การบริหารจัดการขยะพิษที่ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก
นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวยืนยันว่า การบริหารจัดการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลยไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ชัดเจน ใช้การทำงานในรูปแบบของ “ประชารัฐ” ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย ผู้แทนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเลย ยืนยันในส่วนที่ประชาชนเป็นห่วงว่าบริษัททุ่งคำ จำกัด จะเข้ามาดำเนินการเปิดเหมืองแร่อีกครั้ง เป็นไปได้ยากเนื่องจากบริษัทถูกฟ้องล้มละลายและพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ในส่วนการทำแผนฟื้นฟูฯ ที่ภาคประชาชนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างแผนฯ นั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ขอเสนอแนะว่า ควรให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนแผนฟื้นฟู ในส่วนประเด็นการขอให้ยกเลิกสัมปทานบัตรตามที่กลุ่มประชาชนเข้าใจว่าสามารถที่จะเปลี่ยนบริษัทผู้ประกอบการใหม่ได้นั้น คณะกรรมาธิการฯ มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย เป็นต้นเรื่องในการทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานกฤษฎีกา ว่าสามารถประกาศยกเลิกการสัมปทานบัตรได้หรือไม่
ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์ / จ.เลย