มรภ.ศรีสะเกษ ชูวัดสวนกล้วย ต้นแบบสุขภาวะทางสังคมที่ดี-มีความมั่นคง บนพื้นฐานการใช้พุทธศาสนาเป็นพลังหนุนสู่ความยั่งยืน


เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่วัดสวนกล้วย ต.สวนกล้วย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พระครูศิริรัตนาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอกันทรลักษ์ (ธ) เจ้าอาวาสวัดสวนกล้วย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายธนิต พันธ์หินกอง นายอำเภอกันทรลักษ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเปิดกิจกรรมตักบาตรส่งเสริมวิถีพุทธศาสนา “ตามฮีตบ้าน ตามฮอยครู วิถีคนสวนกล้วย -มะลิวัลย์” และกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ ชุมชนต้นแบบการสร้างสุขภาวะทางสังคมบนพื้นฐานการใช้ศาสนาเป็นพลังแห่งความเอื้ออาทรและการสร้างความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมมอบโล่รางวัลบุคคลต้นแบบ และประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศรีสะเกษ) จัดขึ้น
โดยมี ผศ.ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล รอง ผอ.สำนักส่งเสริมบริการวิชาการ มรภ.ศรีสะเกษ นายยศวัฒน์ จริยาวัฒนชัยกุล นายกเทศมนตรีตำบลสวนกล้วย นายเสถียร จำเริญ ผอ.โรงเรียนบ้านสวนกล้วย และนายบัวผัน ศรีจำปา กำนันตำบลสวนกล้วย พร้อมผู้นำชุมชน กรรมการหมู่บ้าน เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ตำบลสวนกล้วยและนักศึกษาจาก มรภ.ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
ผศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวว่า มรภ.ศรีสะเกษ โดยงานศิลปะและวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามพระบรมราโชบาย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ มรภ.ศรีสะเกษ ในการบริการวิชาการและน้อมนำ แนวพระราชดำริที่ตอบสนองต่อความต้องการ พัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยมีการคัดเลือกชุมชนที่มั่นคงทางศาสนา มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และประชาชนในชุมชนมีความเอื้ออาทรต่อกัน จนสามารถสร้าง สุขภาวะทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงให้สอดคล้องกับสังคมได้อย่างยั่งยืน
จากปัญหาต่างๆทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางความเชื่อของท้องถิ่น ที่ส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิ เป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งระดับบุคคล ระดับครอบครัวและระดับชุมชน ซึ่ง มรภ.ศรีสะเกษ ได้มีผลงานการวิจัยพบว่า ชุมชนบ้านสวนกล้วยและชุมชนบ้านมะลิวัลย์ ต.สวนกล้วย อ.กันทรลักษ์ มีวัดสวนกล้วย เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา ร่วมกันตั้งแต่อดีตการก่อตั้งหมู่บ้านทั้งสองชุมชนเป็นชุมชนที่มี ความมั่นคงทางพุทธศาสนา โดยการนำของหลวงปู่ทุย อุปคโม และพระครูญาณประพัฒน์ หรือหลวงปู่ที เขมิโย ผู้ถือว่าเป็นต้นแบบของการปฏิบัติตนตามจารีตประเพณีท้องถิ่น ภายใต้คำสอนของพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่มีผู้นำที่เข้มแข็งประชาชนในชุมชนมีความเอื้ออาทรต่อกัน จนสามารถสร้างสุขภาวะทางสังคมที่ดีมีความมั่นคง สามารถแก้ไขปัญหาทางความเชื่อของท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน.

ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงาน