คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมประเพณีลงแขกดำนา เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีที่ดีงามของบรรพบุรุษ และให้นักศึกษาได้เรียนรู้การปฏิบัติจริง มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม และส่งเสริมความรักความสามัคคี
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่แปลงนาแผนกพืชไร่นา สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมการลงแขกดำนา ซึ่งจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีที่ดีงามของบรรพบุรุษ และให้นักศึกษาได้เรียนรู้การปฏิบัติจริง ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม โดยมีคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ก่อนร่วมกันลงแขกดำนา ได้มีพิธีเลี้ยงผีตาแฮก ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อบอกกล่าวผีตาแฮกประจำนา ให้การทำนาประสบผลสำเร็จด้วยดี ตลอดจนดูแลต้นข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ ไม่มีโรคเบียดเบียน และได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากนั้นคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา กว่า 200 คน ร่วมกันลงแขกดำนากันอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน ทั้งนี้ พื้นที่ดำนาดังกล่าวมีจำนวน 7 ไร่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า อาชีพการทำนา เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรภาคอีสาน ที่ได้รับการสืบทอดสู่ลูกหลาน ในอดีตชาวนาภาคอีสาน มีประเพณีช่วยกันปักดำทำนา เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี มีน้ำใจต่อกัน ทำให้เกิดประเพณีลงแขกดำนา ปัจจุบันประเพณีการลงแขกได้เลือนหายไปเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้เห็นถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประเพณีไทยสืบสาน ฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ได้จัดกิจกรรมลงแขกดำนา เพื่อให้นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ เห็นถึงการทำนาตามวิถีเกษตรวิถีดั้งเดิมของชุมชน ตลอดจนเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดต้นทุนการผลิต
ภายในกิจกรรมลงแขกดำนาในครั้งนี้ ยังได้จัดให้มีการแข่งขันดำนา เพื่อสร้างความสนุกสนานในการดำนา และช่วยให้นักศึกษาได้สัมผัสวิถีการทำนาของชาวอีสานอย่างแท้จริง เป็นการสืบสานประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน อย่างไรก็ตาม สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้ เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกปีต่อไป และแปรรูปเป็นข้าวสารแพ็คถุงจำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์ของสาขาเทคโนโลยีการผลิตพืชต่อไป