ขอนแก่น (ชมคลิป) โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์คว้า2รางวัล การประกวดงานปั้นรูปปั้นสัตว์ป่าชนิดนูนสูง “สัตว์ป่า…คืนดวงตาให้น้อง ปีที่ 5” ของสวนสัตว์ขอนแก่น

สวนสัตว์ขอนแก่น จัดกิจกรรมโครงการ “สัตว์ป่า…คืนดวงตาให้น้อง ปีที่ 5” ประกวดงานปั้นรูปปั้นสัตว์ป่าชนิดนูนสูง

สวนสัตว์ขอนแก่น ตำบลคำม่วง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมโครงการ “สัตว์ป่า…คืนดวงตาให้น้อง ปีที่ 5” ณ โรงอาหารแผนงานนำนักเรียนเข้าเรียนรู้ในสวนสัตว์ สวนสัตว์ขอนแก่น ซึ่งเป็นการประกวดการแข่งขันงานปั้นรูปปั้นสัตว์ป่าชนิดนูนสูง ได้แก่ ลีเมอร์หางแหวน, ตัวกินมดยักษ์, เต่าซูลคาต้า, จิงโจ้แดง และ เลียงผา โดยภายในปี 2567นี้ มีนักเรียนและคณะครูอาจารย์จากสถาบันศึกษาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, กาฬสินธุ์, หนองคาย, นครราชสีมา, สกลนคร, นครพนม, ยโสธร, เลย, มหาสารคาม และ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งทั้งสิ้น 42 ทีม แบ่งเป็นทีมคู่ผสมทีมละ 5 คน ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการประกวดรูปปั้นสัตว์ป่านูนสูงแต่ละชนิดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะถูกนำไปแสดงติดตั้งควบคู่กับอักษรเบรลล์ ณ ส่วนจัดแสดงสัตว์แต่ละชนิดภายในสวนสัตว์ขอนแก่น

โดยมีรางวัลรวมทั้งสิ้น 15 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รูปปั้นสัตว์ป่านูนสูงแต่ละชนิด รวมทั้งสิ้น 5 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมรับโล่รางวัลและใบเกียรติบัตรจากทางสวนสัตว์ขอนแก่น, รางวัลชมเชยรูปปั้นสัตว์ป่านูนสูงแต่ละชนิด 2 รางวัล รวมทั้งสิ้น 10 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาทและใบเกียรติบัตรจากทางสวนสัตว์ขอนแก่น ผ่านเกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการดังนี้ 1.คุณภาพผลงาน สามารถใช้งานได้จริง, 2.ความคล้ายคลึงเสมือนแบบที่กำหนด และ 3.ความสวยงามและเทคนิค อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก นายสรันย์ พานจันทร์ นายอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดโครงการ

นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมโครงการ “สัตว์ป่า…คืนดวงตาให้น้อง ปีที่ 5” ในครั้งนี้ ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 1.เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า ผ่านการสัมผัสได้รับความรู้เกี่ยวกับสรีระทางกายภาพของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ, 2. เป็นการสร้างและพัฒนาสื่อการเรียนรู้อีกประเภทหนึ่ง ให้บริการสังคมแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ให้ได้มีโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมในสังคม, 3. เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้มีเวทีในการแสดงความสามารถและความคิดเห็นผ่านผลงานการปั้นรูปปั้นสัตว์ป่าชนิดนูนสูง สร้างจิตสำนึกในการดูแล การเอื้อเฟื้อและให้ความสำคัญแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น อีกทั้งภายในปีนี้ นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น และ นางทิติยา เส่งมูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น ร่วมตัดสินผลงานการประกวดรูปปั้นสัตว์ป่านูนสูงพร้อมกับคณะกรรมการรับเชิญพิเศษอีก 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.ธวัชชัย ช่างเกวียน อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ดร.เจด็จ ทองเฟื่อง อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายศุภเวช มะละปะทิ เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินผลงานการประกวดในครั้งนี้

.

ทางด้าน ผศ.ธวัธชัย ช่างเกวียน อาจารย์คณะศิลปะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงเกณฑ์การตัดสิน และผลงานของนักเรียนที่เข้าร่วมการประกวดว่า “เรามีกรรมการ 5 คน ดูภาพแรกก่อนอย่างน้อย ดูรวม ๆ แต่ละประเภทโดยให้กรรมการจับมาคนละชิ้น หรือถ้าเห็นว่ามันดีมากกว่านั้นก็ดึงมาอย่างน้อยคนละ 2 หรือ 3 วิธีดูก็คือ นอกจากกายวิภาค เรื่องของความงาม ดูเรื่องความถูกต้องด้วย เพราะว่าตัวที่ชนะเลิศจะเป็นต้นแบบที่นำไปหล่อแล้วติดหน้ากรง จากที่มาตัดสินทุกปี ดูผลงานแล้วดีขึ้นเรื่อย ๆ มีผู้เข้าร่วมมากขึ้นทุกปี และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าสวนสัตว์ขอนแก่นได้จัดกิจกรรมเช่นนี้ ในส่วนผลพลอยได้สำหรับเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมประกวดนอกจากได้รางวัล ได้ใบประกาศ สามารถนำพอร์ตไปใช้ประกอบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วย พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้มีพัฒนาการท้างด้านศิลปะ ในส่วนตัวแล้วมีข้อชี้แนะ ให้กัฐเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมการประกวด เนื่องจากได้มีการประกาศบอกแล้วว่าจะปั้นรูปอะไร โดยให้นักเรียนได้ทำการฝึกซ้อมปั้นมาก่อนเข้าทำการแข่งขัน ให้ครูช่วยดู และปรับปรุงวิธีการ หรือรูปแบบการปั้นนั้น ๆ 

ขณะที่ นายสุรวิทย์ ภาคบุญเรือง อาจารย์สอนกลุ่มสาระศิลปทัศนศิลป์ โรงเรียนกาศินธุ์พิทยาสรรค์ กล่าวว่า “ต้องขอบุคณทางสวนสัตว์ขอนแก่น ที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้แสดงฝีมือการปั้น โดยทางโรงเรียนส่งเข้าร่วมทั้งหมด 4 ทีม ๆ ละ 5 คน เริ่มแรกทางโรงเรียนได้ส่งนักเรียนเข้าทำการแข่งขันศิลปะหัตกรรม จะมีปฏิมากรรมลอยตัว วาดภาพต่าง ๆ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีนโยบายให้ส่งเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด จึงได้เปิดชมรมเพื่อหาเด็กมาปั้น เริ่มต้นจากดินธรรมดา เด็กก็ไม่เก่ง เริ่มแรกนำมาซ้อม มาผึก ต่อมาได้มีเด็กสนใจมากขึ้นเป็นรุ่นพี่ชนะการประกวด รุ่นน้องก็เดินตามรอยรุ่นพี่มาเป็นทอด ๆ ซึ่งเคยได้รับรางวัลใหญ่สุดระดับประเทศงานศิลปะหัตกรรมประเภทปฏิมากรรมลอยตัว ซึ่งปั้นเป็นเรื่องราวสถาบันหลักของชาติ ชนะเลิศทั้ง ม.ต้นและม.ปลาย จากการที่สอนศิลปะมาทั้งชีวิต มีลูกศิษย์นำแบบอย่างการปั้นจนเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ หรือ “ไอดอล” ให้กับเด็ก ๆ มีความภาคภูมิใจที่สามารถเป็นต้นแบบให้ได้ ซึ่งมีรุ่นที่ประสบความสำเร็จหลังจากเรียนจบจนสามารถประกอบอาชีพได้โดยรับจ้างปั้นรูปต่าง ๆ ตามวัดวาอารามทั่วไป และยังเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจำนวนหลายคนด้วย

ส่วนทางด้านนางสาวณิภาธร ศรีแสง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม เผยว่า เป็นครั้งแรกที่เข้ามาร่วมการแข่งขัน รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยปั้นดินมาก่อน มีเวลาซ้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันเพียง 1 วัน เป็นโจทย์ให้ปั้นแล้ว รู้สึกว่ายากมาก  ตอบตรง ๆ ว่าการมาแข่งครั้งนี้ ตนไม่มีความเชื่อมั่น พูดได้เลยว่า ทำไม่ได้ค่ะ มันยากมาก เห็นคนอื่นเขาปั้นดี ๆ ทั้งนั้น 

ในขณะที่ นายกมลภพ สะจันดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เผยว่า “ในฐานะเมื่อปีที่แล้วได้แชมป์ในการปั้นช้างเอเชีย ปีนี้เป็นการรักษาแชมป์ ถือว่าไม่หนักใจ สบาย ๆ ในปีนี้ปั้นเต่าซูลคาต้า โดยสร้างงานแบบ 3 มิติ เปอร์สปิคธีฟ หรือนูนสูง มีความมั่นใจเต็มที่ เป็นคู่แข่งแล้วไม่มีความหนักใจเลย

ซึ่งหลังจากการพิจารณาผลงานพร้อมลงคะแนนให้กับชิ้นงานของผู้เข้าประกวด ลงมติเป็นเอกฉันท์ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรูปปั้นสัตว์นูนสูง “โครงการสัตว์ป่า…คืนดวงตาให้น้อง” ปีที่ 5 ประจำปี 2567 ดังนี้ 1.นางสาวปิยพัชร ตีพิพิทย์ โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเภทผลงานลีเมอร์หางแหวน, 2.นายอดิเรก สายวัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร ประเภทผลงานตัวกินมดยักษ์, 3 เด็กชายชัยวัฒน์ นำภา โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จังหวัดยโสธร ประเภทเต่าซูลคาต้า, 4.นายภานุพงศ์ สินน้ำพอง โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเภทผลงานจิงโจ้แดง และ 5.เด็กชายประกฤษฎิ์ พรมโท โรงเรียน ภู่วิทยา จังหวัดนครราชสีมา ประเภทผลงานเลียงผา นอกจากนี้ผลงานทั้งหมดที่ได้จากการประกวด สวนสัตว์ขอนแก่นจะดำเนินการนำไปต่อยอดใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทององค์ความรู้ ทักษะประสบการณ์ จากแหล่งเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียนภายในสวนสัตว์ต่อไป