ฝายกั้นน้ำหนองเลิงใหญ่ แก้มลิงรับน้ำขนาดใหญ่ของ จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม เกิดขาดน้ำทะลัก เจ้าหน้าที่เร่งหาทางปิดจุดที่ขาด ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเข้าปิดจุดขาด ก่อนน้ำหมดอ่าง
4 ก.ค. 67 นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจสอบฝายห้วยสายบาตร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเลิง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น หลังจากที่ตัวฝายที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก มาตั้งแต่ปี 2549 ถูกมวลน้ำจากหนองเลิงใหญ่ แก้มลิงรับน้ำขนาดใหญ่ กัดเซาะจนขาดกว้างประมาณ 20 ซม. ทำให้มวลน้ำได้ไหลทะลักข้ามผ่านฝายอย่างหนัก จนทำให้พนังดินพังทลายลงมา รวมทั้งพนังปูนที่เพิ่งก่อสร้างก็ถูกน้ำกัดเซาะพังลงมาเช่นกัน โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบ มีนายธนาศักดิ์ ร้อยพา นายก อบต.โคกสี อ.เมืองขอนแก่น นายวิทิตย์ นามมูลน้อย หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น พันเอก จตุพงษ์ พลเสน ผบ.พัน.มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น ร่วมตรวจสอบความเสียหายและกำหนดแผนในการซ่อมแซม ป้องกันมวลน้ำในระยะเร่งด่วน
นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยสายบาตรเป็นอ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2549 โดยกรมชลประทาน ก่อนจะส่งมอบให้ อบต.โคกสี เป็นผู้ดูแลรักษา ซึ่งก็มีการชำรุดพังมาเป็นระยะ โดยทาง อบต.โคกสี ก็ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมมาโดยตลอดเช่นกัน แต่ด้วยอายุการใช้งานมาหลายสิบปี ทำให้โครงสร้างของฝายเกิดการเสื่อมสภาพ จนทำให้น้ำกัดเซาะขาดไปประมาณ 20 เมตร ซึ่งแผนในระยะเร่งด่วน คือ การหาวิธีการชะลอน้ำจากหนองเลิงใหญ่ไม่ให้ไหลทะลักลงสู่ลำน้ำพองไปมากกว่านี้ เนื่องจากจะกระทบกับการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่รอบหนองเลิง เบื้องต้นได้ประสานขอถุงบิ๊กแบ็คจากภาคเอกชน และหากไม่สามารถปิดกั้นน้ำได้ ก็จะต้องใช้กล่องเกเบี้ยนมาทำการปิดช่องฝายที่ขาด ส่วนกำลังพลในการลำเรียงถุงบิ๊กแบ็คได้ประสานไปยังทหารจาก มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น รวมทั้งกำลังพลจิตอาสามาช่วยกัน ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เครื่องไม้เครื่องมือมีความพร้อมก็คาดว่าจะสามารถปิดจุดที่ขาดได้ภายในคืนนี้ อย่างไรก็ตามมวลน้ำที่ไหลผ่านจุดตัวฝายที่ขาด จะไม่กระทบกับบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากน้ำจากที่นี้จะไหลลงสู่ลำน้ำพอง ซึ่งปัจจุบันยังสามารถรับน้ำได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นชาวบ้านรอบหนองเลิงใหญ่ ที่เป็นผู้ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค