หนองบัวลำภู – สาวพาณิชย์ พลิกชีวิต ”เปลี่ยนฟางข้าวไร้ค่า เป็น”ถุงเห็ดนางฟ้าพาโล”

สาวพาณิชย์ จบบัญชีไอเดียเก๋ !!พลิกชีวิต”เปลี่ยนฟางข้าวไร้ค่า เป็น”ถุงเห็ดนางฟ้าพาโล”
รสชาดของเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว ยังมีกลิ่นหอมจากฟางข้าว ดอกนุ่มดี เป็นที่ต้องการของลูกค้ากินแล้ว ติดใจในรสชาด ” ถุงเห็ดนางฟ้า พาโล ทำเงิน พาโล พารวย”

วันที่ 22 พ.ค.67 นายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วย นายอำเภอนาวัง เจ้าหน้าที่จากเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรอำเภอนาวัง นำผู้สื่อข่าวชมผลงานของเกษตรกรยุคใหม่ซึ่งเป็น Young Smart Farmer ของอำเภอนาวัง ที่สวนแคร์นาวัง บ้านนาซำจวง ตำบลนาแก อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมี นางสาวทองใหม่ บุตตะวงค์ เป็นผู้นำของกลุ่ม ได้ทำการผลิตเห็ด จากวัสดุเหลือใช้ในนาข้าว คือ “ฟางข้าว” ซึ่งแต่เดิมก็เคยเห็นการนำเอาฟางข้าวมาเป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ดฟาง จนกลายเป็นความคุ้นชินไปนานแม้ว่าจะนำเอาวัสดุชนิดอื่นมาเพาะเห็ดฟาง ไม่ว่า จะเป็นเปลือกหัวมันสำปะหลัง เปลือกถั่วเขียว ต้นกล้วยหรือวัสดุอื่น ก็ยังคงเรียกเห็ดฟางอยู่เหมือนเดิม


ฟางข้าว เป็นส่วนของต้นข้าวที่เหลือหลังการเก็บเกี่ยว และนำเมล็ดข้าวออกแล้ว ฟางข้าวเหล่านี้ ถือเป็นผลพลอยได้ทางการเกษตรจากนาข้าว จากแต่เดิมนั้น ชาวนาแทบจะไม่เห็นคุณค่าของฟางข้าวเลย หลังเก็บเกี่ยว ตีนวดข้าวนำเอาเมล็ดไปแล้ว ก็จะปล่อยทิ้งแบบไม่สนใจใยดี พอถึงช่วงแล้งก่อนจะลงทำนารอบใหม่ ส่วนมากก็จะจุดไฟเผาทิ้งไป อย่างไร้คุณค่า แต่ระยะหลังมา เกษตรกรเริ่มมีการมองเห็นคุณค่าประโยชน์ของฟางข้าว กันมากขึ้นซึ่งหากจะดู คุณค่าทางโภชนาการ ทำให้มีเกษตรกร ได้นำเอา ประโยชน์จากฟางข้าว มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะ ใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโค กระบือ ใช้ทำปุ๋ยหมัก ใช้ทำเป็นวัสดุปกคลุมดินหลังการหว่านเมล็ดพืช ใช้ทำเป็นวัสดุคลุมดินสำหรับรักษาความชุ่มชื้นของดิน และใช้คลุมดินแก้ปัญหาดินเค็ม ใช้เป็นวัสดุสำหรับการเพาะเห็ดฟาง และอีกหลากหลายอย่างถึงประโยชน์ของฟางข้าว


แต่สำหรับกลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ของอำเภอนาวัง ที่สวนแคร์นาวัง กลุ่มนี้ ได้มองหาสิ่งทดแทน ที่เหลือทิ้งในแปลงนา มาทดแทนการเพาะปลูกเห็ดของพวกเขา จากขี้เลื่อย มาเป็นฟางข้าวแทน ด้วยความอยากจะค้นหา อยากจะลองดู ซึ่งเป็นความท้าทายว่าจะทำได้หรือไม่ ก่อนหน้านี้คงมีคนเคยทำมาก่อนหรือไม่เพียงแต่ สันนิษฐานจากพื้นที่ฐานที่ แต่ก่อนพ่อแม่ เคยพาทำเห็ดฟางกองเตี้ย จึงลองทดแทนการทำเห็ดด้วยฟางข้าวแทน ซึ่งผลที่ได้ จากการนำเชื้อ เห็ดนางฟ้า เห็ดบดหรือเห็ดลม เชื้อเห็ดหลายชนิดที่ทดลอง มาจบที่ “เห็ดนางฟ้า” ให้ผลตอบแทนดีกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ ทำให้พวกเขาได้เริ่มก้าวเดินและพัฒนสิ่งที่ค้นคิดได้ และขยายเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ในชื่อว่า “เห็ดถุง พาโล” สวนแคร์นาวัง


นางสาวทองใหม่ บุตตะวงค์ กล่าวว่าจากชื่อที่ว่า” เห็ด นางฟ้า ถุงพาโล “ ที่ดูเป็นคำที่แปลกใหม่ว่า ไม่คุ้นชินจากที่เคยเห็นและได้ยินมา จึงได้รับการเปิดเผยขยายความคำว่า “พาโล” เป็นคำภาษาอีสาน ที่คนอีสาน มักพูดกันเมื่อมีการทำอะไรที่มีขนาดเกินไปจากที่เคยทำทั่วไปเรียกว่า” ทำพาโล พางาย” เป็นเรื่องที่เกินไปกว่าปกติ ปกติถุงเห็ดนางฟ้า จากขี้เลื่อยไม้ยางพารา อะไรพวกนี้ ขนาดหนึ่งจะมีน้ำหนักประมาณ 0.5 กิโลกรัม การทำขนาดเล็กยุ่งยาก เราจึงคิดกันว่าเมื่อทำถุงเล็กได้ เราก็น่าจะทำถุงใหญ่ จะได้เห็ดปริมาณมาก ทำง่ายสะดวกกว่า เราก็เลยมาทำเป็น ถุงขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนัก 4.50-5.00 กิโลกรัม จึงทำให้ เรียกถุงเห็ดขนาดใหญ่นี้ว่า “เห็ดถุงพาโล” ซึ่งก็คือ เห็ดนางฟ้า จากฟางข้าวในถุงขนาดใหญ่ ออกดอกได้นาน เก็บได้ปริมาณมากกว่า ถุงหนึ่งให้ผลผลิตได้ 3-5 เดือน แล้วแต่การดูแลของแต่ละคน ให้ผลผลิตได้ ประมาณ 5 กิโลกรัม


นอกจากนั้น นางสาวทองใหม่ ยังได้ย้อนเล่าถึงชีวิตก่อนที่จะมาทำ “เห็ดพาโล” ว่าจากจุดเริ่มต้นชีวิตที่เรียนจบมาทางการบัญชี แต่วิถีชีวิตไม่ได้ใช้วิชาความรู้ตามที่ตนเองเรียนมา เมื่อจบการศึกษาโดยสภาพอยู่กับวิถีชีวิตทางการเกษตร ช่วยพ่อแม่เพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ปลูกถั่วพูส่งตลาดอุดรเมืองทอง ปลูก ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ ยูคาลิปตัส ในพื้นที่สวนของตนเอง 10 กว่าไร่ แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นคือ ฟางข้าวในนาที่ถูกปล่อยทิ้ง หลังเก็บเกี่ยว คิดว่า น่าจะนำมาทำประโยชน์ให้ได้มากกว่านี้ ที่ส่วนมากปล่อยให้เป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ จึงคิดว่า ถ้าเราจะนำเอาฟางข้าวมาเป็นวัสดุทดแทนจากขี้เลื่อยในการเพาะเห็ดได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี หลังจากคิดก็ได้ขายความคิดให้หลายคนฟัง แต่ก็มีหลายเสียงบอกว่า ทำไม่ได้ แต่ด้วยความท้าทายอยากจะลองดูสักตั้งในความตั้งใจ จึงได้นำเอาฟางข้าวมาทำเป็นวัสดุเพาะเห็ด นางฟ้า แทนขี้เลื่อย ซึ่งผลที่ได้รับดี นอกจากจะออกดอกดีแล้ว รสชาดของเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว ยังมีกลิ่นหอมฟางข้าว ดอกนุ่มดี เป็นที่ต้องการของลูกค้าที่เมื่อซื้อไปกินแล้ว ติดใจในรสชาด

นางสาวใหม่ เล่าต่อจากผลิตในครัวเรือน ต่อมาได้มีการขยายผลการเพาะเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าวไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ เป็นเครือข่ายในอำเภอนาวัง ซึ่งดำเนินการร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอนาวัง และสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีกลุ่มที่ขยายผลฯ มีกลุ่มสมาชิกในตำบล อำเภอ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับกระบวนการเพาะเชื้อเห็ดฟ้า ถุงพาโล จากฟางข้าว มีขั้นตอนคือ นำเอาฟางข้าวมาแช่น้ำในอ่างหรือถังน้ำใหญ่ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ดูที่ลักษณะของเส้นฟางข้าวว่าอ่อนตัวแล้วหรือยัง เมื่อฟางข้าวอ่อนแล้วนำขึ้นจากน้ำมากองไว้ นำมาเอา ปูนขาว โดโลไมท์ มาคลุกให้เข้ากันกับเส้นฟางข้าว นำฟางข้าว อัดเข้าในถุงพลาสติกชนิดร้อนขนาดใหญ่ ชั่งให้ได้ขนาดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม นำไปนึ่งในถังขนาด 200 ลิตร เพื่อให้ความร้อนฆ่าเชื้อประมาณ 1-2 ชั่วโมง

จากนั้นนำออกมา ทิ้งให้เย็นแล้ว ใส่คอขวดที่ปากถุง แล้ว ถึงนำเอาเชื้อที่เพาะเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง มาเขี่ยเชื้อเห็ดใส่ให้กระจายทั่วปากถุง ขั้นตอนนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังฉีดพ่นฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์อุปกรณ์การเขี่ยเชื้อ ปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาษ นำเข้าเก็บในสถานที่โรงเรือนที่ไม่มีลมโกรก บ่มในอุณหภูมิที่เหมาะสมให้เชื้อเดินให้ทั่วถุง เมื่อเห็นว่าเชื้อเริ่มเดินทั่วถุงแล้ว ก็จะเปิดปากถุง กรีดถุงตรงกลาง 4 จุด ความกว้างประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้เห็ดเกิดดอกบริเวณที่เกิด เมื่อกรีดถุงแล้ว ในแต่ละวันต้องคอยฉีดพ่นละอองน้ำให้เปียกซึ่งสามารถใช้กระบอกฉีดน้ำ ฟ๊อกกี้ ฉีดวันละ 1-2 ครั้ง ตามสภาพอากาศอย่าปล่อยให้ถุงแห้ง จะทำให้ดอกเห็ดยุบตัวเมื่อออกดอกมา การบ่มก้อนเชื้อ หลังจากใส่เชื้อเห็ดลงในถุงก้อนเชื้อแล้ว ให้นำ ไปบ่มในโรงบ่มเชื้อหรือบริเวณที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อให้เส้นใย เจริญในก้อนเชื้อ

สำหรับ เห็ดถุง พาโล ของ สวนแคร์นาวังแห่งนี้ ในแต่ละวัน ในช่วงนี้ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการส่งตลาดในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท แล้วแต่ช่วงฤดูกาลที่ตลาดขาดแคลนหรือไม่มีเห็ดป่ามาแข่ง ราคาก็จะสูง ส่วนมากในหมู่บ้านก็จะมีลูกค้ามาซื้อตลอด และก็มีแม่ค้าขาประจำ มารับไปจำหน่ายที่ ตลาดบ้านหนองด่าน อ.นากลาง เป็นประจำ ซึ่งลูกค้าจะชอบเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว เนื่องจากมีกลิ่นหอมของฟางข้าวด้วย ลูกค้าจึงต้องการเห็ดจากฟางข้าวมากกว่าเห็ดนางฟ้าจากขี้เลื่อยยางพารา ส่วนผู้สนใจที่มาสามารถติดต่อได้ ที่ สวนแคร์นาวัง @873byiwa หรือ Line ID:0936929636 หรือ FaceBook;เห็ดถุงพาโล สวนแคร์นาวัง


ในขณะที่ นายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่าจังหวัดหนองบัวลำภูได้ส่งเสริมเกษตรกรแนะนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนั่นก็คือฟางข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ในการเพาะเห็ดนางฟ้า ซึ่งก็ทำให้เกษตรกรนั้นสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและก็บางรายทำเพื่อการค้าก็ทำให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งก็เป็นการสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้ผลักดันให้ทุกพื้นที่ได้แก้ปัญหา PM 2.5 ก็คือลดการเผา ซึ่งจังหวัดหนองบัวลำภู ก็มีการเกษตรกรที่ริเริ่มนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้มาเพาะเห็ดนางฟ้านางรม ที่กลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ของอำเภอนาวัง ที่สวนแคร์นาวัง กลุ่มนี้ได้เริ่มขึ้น

สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่นๆทั้งจังหวัดหนองบัวลำภูโดยได้มีการฝึกอบรมเกษตรกรในการนำไปออกงาน ขยายผลตามงานต่างๆ ในพื้นที่อำเภอต่างๆทั้งจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร ประมาณ 1,200 ราย ขณะนี้มีเกษตรกรมีรายได้ จากเห็ดนางฟ้าจากเศษฟางข้าว มาใช้บริโภคในครัวเรือนประมาณ 70 ครัวเรือนและมีรายที่ทำเพื่อการค้าอยู่จำนวนประมาณ 4-5 ราย ซึ่งข้อดีของการเพาะเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าวก็คือจะทำให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกร นอกจากนี้กระบวนการทำก็ไม่ยุ่งยากไม่ซับซ้อนต้นทุนการผลิตก็ตาม ก็ทำให้เกษตรกรมีรายได้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น

สำหรับเห็ดนางฟ้า ถุงพาโล เมื่อปลิดดอกเห็ดนำไปขายให้กับลูกค้าหรือนำมาปรุงแต่งเป็นอาหารมากมายแบบ ตามแต่จะชื่นชอบ อย่างเมนูที่ไม่ค่อยทราบกัน ก็คือไปแปรรูปเป็นข้าวเกรียบเห็ดจากฟางข้าว เห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว หากได้ลองลิ้มรสและสัมผัส จะมีรสชาดแตกต่างจากเห็ดนางฟ้า จากขี้เลื่อยทั่วไป เพราะเห็ดนางฟ้า จากฟางข้าวนี้ จะมีรสชาดหอม จากฟางข้าว น่ากินและมีคุณค่าทางอาหารและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ลองไม่รู้ “เห็ดนางฟ้า จากฟางข้าว ถุงพาโล” พาโล พารวย.

สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์ ภาพและข่าว เพ็ญนภา ทับซ้ายขวา รายงานจากจังหวัดหนองบัวลำภู