พ่อเมืองศรีสะเกษ นำชาวบ้านรณรงค์ป้องกันควบคุมไฟป่าและหมอกควัน ลดฝุ่นละออง PM 2.5

เมื่อเร็วๆนี้ ที่บริเวณป่าชุมชนดงภู ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ป้องกันควบคุมไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ประจำปี 2567 โดยมี นายกนก ชิยางคบุตร ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ นายศราวุธ ทรงโฉม นายอำเภอราษีไศล นายธนิตย ทวีชื่น ผอ.ศูนย์ป่าไม้ศรีสะเกษ นายพีระพงศ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร อปท. เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้อุทุมพรพิสัย หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ศก.3 (โนนลาน) ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม

นายศราวุธ ทรงโฉม นายอำเภอราษีไศล กล่าวว่า อำเภอราษีไศล มีพื้นที่ 636.670 ตร.กม. แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 13 ตำบล 190 หมู่บ้าน มีแหล่งน้ำสำคัญ คือ เขื่อนราศีไศล เป็นเขื่อนคอนกรีต มีบานประตูระบายน้ำ 7 บาน กั้นแม่น้ำมูลที่บ้านห้วย-บ้านตอนงูเหลือม เริ่มเก็บกักน้ำ ในปี พ.ศ. 2536 และมีป่าชุมชนอยู่หลายแห่ง ป่าชุมชนป่าดงภู ต.หนองแค แห่งนี้ เป็นป่าชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ เป็นพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในวันนี้มีการจัดกิจกรรมจัดทำแนวกันไฟ กิจกรรมทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ และกิจกรรมนิทรรศการเกี่ยวกับการการป้องกันไฟป่า และป่าชุมชน ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

นายกนก ชิยางคบุตร ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุหลักที่ทำลายพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว และทำลายสภาพสมดุลของสิ่งแวดล้อมอย่างมาก คือไฟป่า ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของป่าและระบบนิเวศป่าไม้ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์จะเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่โล่ง ทำให้ป่าไม้ลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย และยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านการดำรงชีวิตประจำวัน สุขภาพและการท่องเที่ยว อีกทั้งไฟป่ายังเป็นสาเหตุหลักของการทำลายแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ดังนั้นไฟป่าจึงเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันบูรณาการในการลดการเกิดไฟป่าทั่วทุกพื้นที่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ได้เห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” เนื่องจากช่วงที่เกิดไฟป่ารุนแรงมักอยู่ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน

ดังนั้น เพื่อรองรับสถานการณ์ไฟป่า รวมทั้งการป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจากการเกิดไฟป่า จึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน ตระหนักถึงผลกระทบจากไฟป่า เกิดทัศนคติที่ถูกต้องต่อปัญหาไฟป่า เลิกจุดไฟเผาป่า และหันมาร่วมมือกันป้องกันไฟป่า เพื่อให้ประชาชน สามารถจัดทำแนวป้องกันไฟป่าได้อย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้านและสภาพแวดล้อม และเพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้จากไฟป่า โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมจัดทำแนวกันไฟ กิจกรรมทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ และกิจกรรมนิทรรศการเกี่ยวกับการการป้องกันไฟป่า และป่าชุมชน.

ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน