เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่วัดจำปา บ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ พระครูบวร สังฆรัตน์ รองเจ้าคณะอำเภอกันทรารมย์ เจ้าอาวาสวัดจำปา พร้อมด้วย นายมีชัย ทนฤทธิ์ ปลัดอาวุโสอำเภอกันทรารมย์ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายก อบจ.ศรีสะเกษ นายทวี บุญพอ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอกันทรารมย์ นายสนิท แสวงผล นายก อบต.หนองแก้ว ผู้นำชุมชน หมู่บ้าน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่จะจัดแถลงเตรียมจัดงานโฮมบุญข้าวใหม่ปลามัน “วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล-ชี เทิดไท้องค์ราชันย์ ครั้งที่ 8” ประจำปี 2566
ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลุ่มน้ำ เชื่อมสัมพันธไมตรี ของคนในแถบลุ่มน้ำมูล – ชี สองฟากฝั่ง จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี เป็นการเสริมสร้างให้เกิดความรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมของคน 2 ลุ่มน้ำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
โดย นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายก อบจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อบจ.ศรีสะเกษ นำโดย นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ มีวิสัยทัศน์ที่ว่า “สร้างสังคมมีสุข ส่งเสริมการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว พัฒนาการศึกษาท่องถิ่นได้มาตรฐาน” จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว อบจ.ศรีสะเกษ จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
สำหรับกิจกรรมภายในงานดังกล่าว จะมีพิธีทำบุญถวายสังฆทาน ข้าวใหม่-ปลามัน มีการจัดนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยว การสาธิตและจำหน่ายสินค้า OTOP ของดีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง การแสดงศิลปะ วัฒนธรรมที่เด่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง การแข่งเรือยาว ขนาด 40 ฝีพาย ศึกเจ้าสายน้ำ ชิงเงินรางวัลและถ้วยเกียรติยศ โดยใช้สนามแข่งขันคือแม่น้ำมูล บริเวณท่าดอกไม้ บ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ
นอกจากนี้ผู้ที่มาร่วมงานยังจะได้มากราบสักการะหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปเก่าแก่ อายุราว 1,400 ปี เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชน และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ ป่ายางนาเก่าแก่ชุมชนบ้านหัวนา เป็นป่าชุมชนที่มีต้นยางนาขนาด 3-5 คนโอบ ซึ่งมีอายุมากกว่า 500 ปี จำนวนกว่า 300 ต้น เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 22 ไร่ ที่ถูกส่งต่อเป็นมรดกให้ดูแลรักษาต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และภายในป่าชุมชนยังมีศาลปู่ตา ซึ่งเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของคนในชุมชนอีกด้วย
หลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้นทางคณะได้ลุยป่าขุดมัน ซึ่งเกิดตามธรรมชาติ ที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า มันนกมันน้ำ ลักษณะลำต้นเป็นเครือเลื้อยแนบขึ้นไปบนต้นไม้ในป่า ซึ่งต้องใช้เวลาขุดหลายชั่วโมง และต้องขุดลึกประมาณ 2-3 เมตร จึงจะได้เห็นหัวมันและนำขึ้นมาต้มรับประทาน รสชาติอร่อย และหากินยาก ซึ่งจะมีให้ชมและชิมภายในงานดังกล่าวด้วย
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน