ขอนแก่น (ชมคลิป) อบจ.ขอนแก่น ดึงปราชญ์ชาวบ้านส่งเสริมนักจักสานไม้ไผ่รุ่นใหม่

กลุ่มจักสานไม้ไผ่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ฝึกทักษะการจักสานให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา สร้างนักจักสานคนรุ่นใหม่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทำให้กำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

            

นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและประชาชน กว่า 50 คน กำลังฝึกทักษะการจักสานไม้ไผ่ จากวิทยากรกลุ่มวิสาหกิจจักสานบ้านขามป้อม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่ประกอบอาชีพจักสานมาเป็นเวลานานจนมีทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยการฝึกสอนการสานตะกร้า กระติบข้าวเหนียว และทำไม้กวาดทางมะพร้าว จะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตัดไม้ไผ่เป็นท่อน การจักตอกไม้ไผ่ การจักสาน รวมไปถึงการขึ้นรูป ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะต้องใช้ความละเอียด ปรานีต เพื่อให้งานออกมาใช้งานได้คงทนและสวยงาม

    นางศิริพร ประดาพล ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า งานจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่ชาวบ้านทําเพื่อใช้ในครัวเรือนมาแต่โบราณแม้ในปัจจุบัน งานจักสานหรือเครื่องจักสานจะมีอยู่น้อย แต่ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไป ทุกภาคในประเทศนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยแล้ว งานจักสานยังสะท้อน วัฒนธรรม สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาของชาวบ้านได้อีกด้วย ในขณะที่สภาพสังคม เศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเดิม การไปมาหาสู่กันระหว่างเมืองกับชนบทติดต่อกันได้สะดวก การดํารงชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลกระทบทําให้งานจักสานหรืออาชีพจักสานลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนคนในยุคปัจจุบันไม่รู้จักกรรมวิธีขั้นตอนในอุปกรณ์ในการประยุกต์เลือกนำภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้จากไม้ไผ่เอาวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่ มาใช้ในการทำมาหากิน ไม่รู้จักอุปกรณ์พื้นบ้านอีสาน ที่ปู่ย่าจักสานขึ้น อย่างเช่น สุ่มไก่ การสานกระด้ง กระติบข้าว ไซ ข้องใส่ปลา กระชังใส่ปลา

ซึ่งอุปกรณ์บางอย่างเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จัก ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จึงจัดโครงการพัฒนาทักษะการฝึกอาชีพการจักสานให้กับทางกลุ่มฯ โดยนำนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ มาเรียนรู้และฝึกทักษะการจักสาน เมื่อฝึกจนเกิดความชำนาญแล้ว ทางโรงเรียนก็จะจัดหลักสูตรการจักสานต่อเนื่องให้กับนักเรียนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจฯ เป็นผู้สูงอายุและจำนวนน้อยลง ทำให้กำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด หากสามารถผลิตนักจักสานคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ จะเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพมาตรฐานการสร้างงาน สร้างอาชีพและก่อเกิดรายได้แก่ตนเองและครอบครัว