ขอนแก่น- ‘ปลัด ศธ.’ พร้อมพัฒนาการศึกษาภายใต้รัฐบาลใหม่ เน้นสร้างคนตรงตามตลาดแรงงาน

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบการศึกษาไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่ เน้นสร้างความรู้พื้นฐานให้เข้มแข็งควบคู่ไปกับเทคโนโลยี สร้างบุคลากรคนที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน แนะรัฐบาลให้ความสำคัญแผนการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ควบคู่ไปกับการจัดพื้นที่นวัตกรรม

ที่โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “6 ปีแห่งการบูรณาการ สานพลังปฏิรูปการศึกษา พัฒนาคนขอนแก่น” พร้อมกับมอบนโยบายในการพัฒนาการศึกษา โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายรัชพร วรรณคำ ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น และสถานศึกษาในสังกัดเข้าร่วม ในการนี้ได้มีการ Kick Off ในกิจกรรม จิตอาสาปฐมวัย ปลูกการเป็นผู้ให้ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โรงเรียนต้นแบบจิตอาสาปฐมวัย จำนวน 60 โรงเรียน จาก 15 ภาคีเครือข่ายทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนในโครงการภาษาจีนสู่อาชีพ ความร่วมมือไทยจีน เป็นต้น

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการจัดการศึกษากระทรวงศึกษาธิการจะมีแผนงานหลักที่เรียกว่าแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่จะต้องขับเคลื่อนแนวทางการศึกษาให้เป็นไปตามที่แผนการศึกษาแห่งชาติกำหนด โดยแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นแผน 20 ปี จะมีการปรับแผนในทุก ๆ 5 ปี ซึ่งในการผลิตและพัฒนากำลังคนเราความรู้สึกในการบริหารไม่ได้ เราต้องมองผู้ใช้ก็คือ ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม หอการค้าทั้งในและต่างประเทศว่าเขามีความต้องการคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการในส่วนนี้แล้ว ขณะเดียวกันเสาหลักทางการศึกษา เช่น บอร์ดบริหาร มหาวิทยาลัย และสถานการศึกษาทุกระดับต้องพูดคุยกันว่า ถ้าภาคสังคม เอกชน ต้องการคนที่มีคุณสมบัติแบบนี้ ฉะนั้นในหน่วยงานการศึกษาก็จะต้องมาปรับนโยบาย รูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่มีความผันผวน ซึ่งการปรับการศึกษาต้องมองเรื่องคุณภาพควบคู่กันไปด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถตอบโจทก์ศึกษาของประเทศได้ จะต้องปรับพื้นฐานในทุกพันธกิจ ที่ผ่านมาเราไปมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพันธกิจข้อ 2 และข้อ 3 คือให้เท่าทันเทคโนโลยี แต่เราหลงลืมในพันธกิจข้อที่ 1 ว่าด้วยศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะหลอมคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งมีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าพันธกิจข้ออื่น ๆ

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้รัฐบาลใหม่ ย้ำว่าการผลิตคนเราใช้ความรู้สึกไม่ได้ ต้องมองไปอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า เด็กไทยจะมีความรู้ความสามารถมากน้อยแค่ไหนในตลาดและในอนาคต ฉะนั้นในการจัดการศึกษาก็ต้องเพิ่มการศึกษาในพันธกิจข้อที่1 คือ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา ควบคู่ไปกับเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้น เราจึงมองว่าผู้เรียนในอนาคตที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญก็คือ อาจจะต้องปรับแผนการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ควบคู่ไปกับการจัดพื้นที่นวัตกรรม ซึ่งจะตอบโจทก์ของการศึกษา โดยเชื่อว่าหากใช้การดำเนินงานตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการได้ทำมามาร่วมกับแนวทางของรัฐบาลใหม่ที่มีมุมมองเชิงนโยบายและอนาคต ก็จะทำให้การศึกษาและคุณภาพของเด็กไทยสอดคล้องกับความต้องการของภาคสังคม ยอมรับว่า ปัจจุบันการศึกษายังมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา เราก็ใช้บทบาทของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และอาสาสมัครของกระทรวงศึกษาธิการไปค้นหากลุ่มคนเหล่านี้ นำข้าราชการที่เกษียณแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ทางวิชาชีพครูไปสอนให้ผู้คนเหล่านี้อ่านออกเขียนได้ และหากกลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกว่าการศึกษามีความสำคัญ เราก็ส่งไม้ต่อให้กับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งศูนย์การเรียนรู้ประจำชุมชน โรงเรียนขยายโอกาสในเชิงพื้นที่ ในขณะเดียวกันหากเด็กมองว่าระบบการศึกษาไม่ตอบโจทก์ อยากออกไปทำงาน อยากมีงานทำ ก็ส่งเสริมการประกอบอาชีพผ่านแพลตฟอร์มของวิทยาลัยสารพัดช่างของอาชีวศึกษา รวมทั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อให้เด็กมีงานทำได้ในอนาคต