ขอนแก่น (ชมคลิป) “อมหัวงูจงอาง” กว่า 30 ปี โชว์ปกติของหมู่บ้านงูจงอาง นักท่องเที่ยวชมได้ที่งานไหมและบ้านโคกสง่า

คลิปการแสดงอมหัวงู ในงานเทศกาลงานไหม ที่จังหวัดขอนแก่นแชร์สนั่น นางรำเผยฝึกซ้อมมานานกว่า 30 ปี จนเกิดการคุ้นชิน การสัมผัสและการเล่นกับงูเป็นประจำ ทำให้งูมีความเชื่องไม่ดุร้าย ยอมรับเป็นการแสดง ที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ในชุมชน

            1 ธ.ค. 65 จากกรณีที่มีผู้ใช้ tiktok ชื่อว่า boyza_1989 ที่ได้มีการโพสต์คลิปการแสดงอมหัวงู ในงานเทศกาลงานไหม ที่จังหวัดขอนแก่น  พร้อมกับโพสข้อความระบุ  แม่ๆคือใจแท้ครับ อมหัวงูจงอางโชว์ #หมู่บ้านงูจงอาง #งานไหมขอนแก่น  ทำให้มีผู้เข้าชมคลิปเป็นจำนวนมาก  และกำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียล ซึ่งภายในคลิปเป็นการรำแสดงของหญิงวัยกลางคน  ใส่ชุดประกอบท่ารำ   ในมือถืองูจงอางพร้อมกับอมเข้าไปในปาก   ซึ่งคลิปเกิดขึ้นภายในงานประเพณีประจำจังหวัดขอนแก่น

      ล่าสุดเมื่อเวลา 15.30 น.ที่ผ่านมา  ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังชมรมงูจงอางแห่งประเทศไทย ที่หมู่บ้านโคกสว่าง (หมู่บ้านงูจงอาง) หมู่ที่ 6 ต.ทรายมูล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  ได้ไปพบกับ นางอำนวย หลวงบุญ อายุ 50 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในนักแสดงชุดดอกคูนเสียงแคนหรือชุดการแสดงอมหัวงู ที่เป็นกระแสโด่งดังในตอนนี้  ซึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวว่า  การแสดงอมหัวงูในคลิปที่ได้มีการถูกเปิดเผยออกไปนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เป็นการจัดแสดงโชว์วันแรกในเทศกาลไหมนานาชาติประเพณีผูกเสี่ยวงานกาชาดขอนแก่น ซึ่งทางชมรมจะมีการแสดงงูจงอางในช่วงค่ำของทุกวันไปจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2565  และการอมหัวงูที่ปรากฎขึ้นนั้นเป็นการแสดงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น   ตนได้มีการฝึกซ้อมมานานกว่า 30 ปี  จนเกิดการคุ้นชิน  การสัมผัสและการเล่นกับงูเป็นประจำ  ทำให้งูมีความเชื่อง  ไม่ดุร้าย  ตั้งแต่เริ่มแสดงอมหัวงูมา  ตนก็ไม่เคยโดนงูกัดสักครั้ง   รักงูเหมือนลูก  และมีรายได้จากการแสดงงู จนสามารถจุนเจือครอบครัว  และส่งลูกเรียนจนจบได้  ก็อยากให้มีการอนุรักษ์ไว้  สืบทอดไปสู่รุ่นหลัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกด้วย

       ขณะที่ นางเกศสุดา พิมพ์ทรายมูล อายุ 48 ปี ประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงอนุรักษ์งูจงอาง กล่าวว่า การแสดงรำงูและอมหัวงูนั้น  ได้ทำการแสดงมานานจนเป็นอาชีพเลี้ยงคนในชุมชน     ทุกคนจึงอยากให้มีการอนุรักษ์ไว้ เพราะว่าการแสดงมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว และทำให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านดีมากๆ มาตลอด จนกระทั่งเจอกับปัญหาโควิดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการปิดทำการไป ทำให้ขาดรายได้ และก็ได้มีการสูญเสียงูไปบางส่วน  จนเกือบจะปิดการแสดงไปแล้ว แต่ด้วยความรักและความผูกพันธ์กับงูมานาน  ทำให้ทุกคนที่นี้   ต้องกลับมาเริ่มฟื้นฟูและฝึกซ้อมการแสดงกันใหม่อีกครั้ง  โดยจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวทุกวัน  หลังจากผลกระทบของโควิดที่ผ่านมา  ทำให้มีนักท่องเที่ยวหายไปเป็นจำนวนมาก  พอโควิดคลี่คลายลงก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชม   พร้อมกับได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ได้มีการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักที่นี่มากยิ่งขึ้น  และได้รับกระแสตอบรับเป็นจำนวนมาก