อุดรธานี – ทนายโนบิตะ นำน้องบาส ยายน้องเรดิโอร้องศูนย์ดำรงธรรมอุดร ถูกเพจดังอุดรเอาชื่อไปออกหากิน

 

เมื่อเวลา 11.50 น.วันที่ 21 กันยายน ที่ศูนย์ดำรงธรรมอ.เมืองอุดรธานี นายกฤษฎา โลหิตดี หรือทนายโนบิตะ พร้อมด้วยนายอรรถชัย อาจอุดม “น้องบาส”ช่วยชีวิตนักเรียนชายโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลโดนไฟช๊อตหมดสตินอนแช่น้ำ จนตัวเองโดนไฟช๊อต และนางสมถวิล เมืองณะศรี อายุ 62 ปี ยายน้องเรดิโอ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ที่ได้มีเพจดังเมืองอุดรเพจหนึ่งเอาเรื่องของพวกตนไปรับเงินบริจาคโดยไม่ได้รับอนุญาตและอมเงินดังกล่าว

ต่อมาก็ได้มี ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี หลังทราบเรื่องก็ได้เดินทางไปที่พบกับคณะที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.เมืองอุดรฯ ด้วย นางสมถวิล ฯ ได้สอบถามว่า “ในกรณีที่เด็กทั้ง 5 คนโดนไฟดูดในครั้งนี้ ไม่รู้ว่าเรื่องที่ท่านว่าจะมีการเยียวยาให้กับเด็กที่ถูกไฟดูดในครั้งนี้ ไม่ทราบว่าท่านจะเยียวยากันในลักษณะไหน และก็ต้องขอขอบคุณที่ท่านไม่ทอดทิ้ง ได้รับคำแบบนี้ก็ทำให้พวกเราอบอุ่นใจ”

ดร.ธนดรฯ ได้กล่าวว่า ตอนนี้ พวกตนไม่ได้นิ่งดูดาย เรื่องที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นกระแสไปทั่วโลกแล้วเพราะมันดูทางอินเทอร์เนตได้หมด ตอนนี้ตนมาพิจารณาดูแล้วว่าเราต้องนับหนึ่งกันใหม่หมดจะต้องเดินหน้าต่อไปโดยจะไม่ต้องมาดูข้างหลัง ตนได้วางแผนไว้แล้วว่า ประการที่ 1.ในพื้นที่เขตโรงเรียนจะตัดไฟฟ้ากระแสสลับออกให้เยอะที่สุด ส่วนเขตอื่นๆ ให้มีตัวฟิวส์ที่มันจะตัดไฟได้เลย พูดง่าย ๆ เหมือนมีเซฟตี้คัทประจำเสาโดยเราจะออกตรวจสอบให้หมดถึงแม้ตรงจุดอื่นมันจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ตาม เพราะต่อไปเราต้องให้การเกิดการณ์เช่นนี้เป็นศูนย์เกิดขึ้นอีกไม่ได้ จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ก็ตาม จริง ๆ แล้วเหตุการณ์บางอย่างไม่ต้องใช้งบประมาณมันอยู่ที่การตรวจสอบ ตอนนี้เราได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตอนนี้เราได้ระดมเลย ต่อไปท่านจะเห็นสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการตรวจสอบแล้วไฟไม่รั่ว และอีกสติ๊กเกอร์หนึ่งจะเป็นการเตือนว่าห้ามเข้าใกล้เนื่องจากระบบอาจจะดีอยู่ แต่ว่าอาจจะเป็นด้วยความชื้นมันสูงอาจเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะขยายเข้าไปในโรงเรียนฝึกอบรมเด็ก ๆ แม้แต่กระทั่งการ CPR ดังตัวอย่างที่น้องบาสน้องบอส CPR จนคนไข้ฟื้นขึ้นมา โดยจะขยายโครงการณ์นี้กับภาครัฐอื่น ๆ หรือภาคเอกชนเช่นมูลนิธิต่าง ๆ ตำรวจ ออกไปให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ไม่แน่อาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ซึ่งก็เป็นการให้ทั้งเชิงรุกเชิงรับ

นายกเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวต่อไปว่า สำหรับในเรื่องไฟส่องสว่างนี้ ตนจะได้ปรึกษากับวิศวกรไฟฟ้า เพื่อเป็นการตัดปัญหา โดยจะติดตั้งโมไฟฟ้าโซล่าเซล ขณะนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาได้ทดลองติดตั้งไปแล้ว 2 โคม ที่จุดที่เกิดเหตุ และวันนี้จะติดตั้งอีก 2 โคม จริง ๆ แล้วไม่ต้องทดลองก็ได้เพราะโซล่าเซลนั้นเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันสดีมาก ความสว่างนานขึ้นและราคาก็ถูกลง ตอนนี้ตนจึงมีนโยบายอยากที่จะเปลี่ยนเสาไฟแสงสว่างตรงจุด ถนนศรีชมชื่นบริเวณหลังโรงเรียน ที่ถนนศรีสุข หน้าโรงเรียน และถนนโพศรีที่ซึ่งน้ำท่วมบ่อย ๆ ให้เป็นโซล่าเซล และก็จะตัดไฟออกไปหมดเลยจะได้ไม่มีปัญหา หลังติดตั้งไปแล้ว 4 โคม ตอนนี้ได้สั่งซื้อสั่งจ้างไปแล้ว จะเร่งดำเนินการติดตั้ง เพราะนโยบายของตนนั้นเมืองอุดรต้องปลอดภัย ซึ่งตนก็ได้พูดตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ว่าเสียใจมาก ไม่ได้ตัดความรับผิดชอบในเรื่องนี้เลย

นายก ทน.อุดรธานี กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเรื่องของการเยียวยาผู้ที่โดนไฟดูดทั้งหมดในวันนั้น เรื่องนี้เป็นส่วนของราชการที่เป็นสิทธิที่ท่านจะได้รับตามกฎหมายตามชอบธรรมที่มีอยู่แล้ว ส่วนจะเยียวยาอย่างไรก็ว่าไปตามระเบียบของกฎหมาย แต่ในเบื้องต้นตนจะดูแลในเรื่องนี้ให้ เมื่อสักครู่ก็ได้มีน้องผู้หญิงที่เขาเรียกว่าสาวหล่อ ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเด็กที่โดนไฟดูดแล้วไม่ได้รับการกล่าวถึง วันนี้พบว่าแผลติดเชื้อตนจึงให้ทางโรงพยาบาล ทน.อุดรฯ รีบเอารถพยาบาลไปรับมาดูแล ตนก็ได้เข้าไปดูแลกับหมอ ปรากฎว่าแผลมันอักเสบ
เท่านั้น หลังจากที่หมอได้ดูแลให้แล้วและได้สอบถามแล้วพบว่าเขาไม่ประสงค์ที่จะนอนที่โรงพยาบาล ตนจึงได้ทำการเยียวยาให้และมอบเงินอีกจำนวนหนึ่งให้

ส่วนในเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น ตอนนี้ตนก็ได้ให้ติดตามไปถึงน้องผู้หญิงอีก 2 คนที่เป็นนักเรียนชั้นประถม ซึ่งขณะนี้ก็ยังได้ติดตามอยู่ที่จะเยียวยาให้ ตอนเรื่องเยียวยาก็ว่ากัน ตนก็จะดูแลให้ ส่วนเรื่องของทนายก็ว่ากันไปตามระเบียบของกฎหมาย

หลังจากนั้นนายกฤษฎา โลหิตดี หรือทนายโนบิตะ พร้อมด้วยนายอรรถชัย อาจอุดม “น้องบาส และนางสมถวิล เมืองณะศรี ยายของน.ส.จิดาภา เปรมปรีดิ์ น้อง “เรดิโอ”ก็ได้ยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมฯ โดยมีนายสามารถ สุวรรณมณี นายอำเภอเมืองอุดรธานี ออกมารับหนังสือ
โดยน้องบาสได้กล่าวว่าที่เดินทางมาครั้งนี้พร้อมด้วยคุณยายของน้องเรดิโอ และทนายความเพื่อที่จะยื่นเรื่องต่อศูนย์ดำรงธรรมเกี่ยวกับที่มีเพจอุดรเพจหนึ่งได้ใช้ชื่อของจังหวัดอุดรธานี ได้ลงเรื่องเหตุการณ์ที่ตนและน้อง ๆ ประสบเหตุในวันน้ำท่วมเมืองอุดรแล้วโดนไฟดูด จนกระทั่งได้มีคหบดีและประชาชนในอุดร ได้ให้ความสนใจและมีความประสงค์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือพวกตนและครอบครัวของน้อง ๆ แต่ทางเพจได้ชี้แจงว่าไม่มีการับบริจาค แต่เขาได้อ้างว่าเขาใช้สะพานบุญ ซึ่งพวกตนก็จะมาหารือในการตีความในการที่เขาว่าเป็นสะพานบุญการรับเงินจากคนอื่นที่มาเป็นการบริจาคมามอบให้พวกตนนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมายไหม และถ้าหากทำได้ ก็ต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การเรี่ยไรหรือเปล่า ซึ่งท่านนายอำเภอเป็นผู้กำกับดูแลในเรื่องนี้ ก็จะเป็นข้อมูลให้พวกตนได้รับทราบ และฝากไปยังหน่วยงานของท่านนายอำเภอที่เกี่ยวข้องว่า ทางเพจนี้ได้จดทะเบียนหรือเปล่า มีการขึ้นทะเบียนกับ ปชส.จังหวัดไหม และใครเป็นเจ้าของเพจ บุคคลที่ไปรับเงินมาเขารับแบบไหน รายละเอียดของการรับเงินเป็นอย่างไร เป็นเงินสดเท่าไหร่ โอนมาเข้าบัญชีเท่าไหร่

นายสามารถ กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางอำเภอและจังหวัดก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากเราได้รับการประสานงานข้อมูลมาเบื้องต้นแล้ว ก็ได้ดูองค์ประกอบเบื้องต้นของกฎหมายในเรื่องของการเรี่ยไร เนื่องจากอีเล็กทรอนิคส์เป็นกฎหมายใหม่ด้วย ก็ดูแล้วว่าองค์ประกอบส่วนหนึ่งก็น่าจะเข้าศูนย์ดำรงธรรม ก็เรียนว่าอยากจะ
ให้ทุกฝ่ายในจังหวัดได้สบายใจว่าจะได้ทำการตรวจสอบสร้างความกระจ่างชัดว่าคนใดคนหนึ่งเอาชื่อเสียงของเด็ก ๆไปแอบอ้าง ซึ่งในองค์ประกอบก็คือการเรี่ยไรที่เพจนี้ที่ได้กล่าวอ้างมา โดยทางศูนย์ดำรงธรรมจะตรวจสอบให้เพราะว่าในฐานะนายทะเบียน พ.ร.บ.เรี่ยไร ควบคุมการเรี่ยไรโดยตรง ส่วนที่สองเรื่องการควบคุมเรื่องของสื่อออนไลน์ ตรงนี้ก็จะรายงานไปทางจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาสัมพันธ์จังหวัดได้เชิญผู้ที่ถูกพาดพิงมาทำความเข้าใจกันโดยศูนย์ดำรงอำเภอจะเป็นคนกลางเอาข้อมูลรายละเอียดตรวจสอบให้หมด จะได้เชิญทุกฝ่ายทั้งน้อง ๆ และทนายมาชี้แจงข้อเท็จจริงกัน จะเป็นคนกลางดำเนินการเรื่องทั้งหมด จะทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด