จังหวัดขอนแก่น เร่งรณรงค์ไถกลบตอซังข้าว เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 มลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ และยังช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตในการทำนา โดยพบว่าตลอด 3 ปีที่รณรงค์ค่าฝุ่น pm 2.5 ลดลงต่อเนื่อง
วันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ไถกลบตอชังข้าว ณ บ้านท่าแก ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นเพื่อลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และเกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่โล่ง พื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร การเผาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจ รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการประกอบอาชีพเกษตรโดยตรง คือทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่ผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นได้รณรงค์ไถกลบตอซังข้าวมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยพบว่าหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวมักจะเหลือเศษตอซังฟางข้าวจำนวนมาก โดยเฉลี่ยไร่ละ 650 – 1,000 กิโลกรัม เมื่อตอซังและฟางข้าวย่อยสลายแล้วจะได้อินทรีย์วัตถุให้ปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชได้แก่ ไนโตรเจน 5 – 9 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส 0.7 – 1.4 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียม 17 – 34 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นมูลค่าปุ๋ย 261 บาทต่อไร่ การไถกลบตอซังข้าวเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน คืนความอุดมสมบูรณ์ และความเหมาะในการปลูกพืชให้กับดิน จากการรณรงค์ต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณค่าฝุ่น pm 2.5 จากระดับสีแดงก็ลดระดับลงมาอยู่ในระดับสีเหลือง และคาดว่าปีนี้จะมีค่าฝุ่น pm 2.5 อยู่ในเกณฑ์ที่มาสูงเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ประชาชนเริ่มตระหนักแล้วว่าฝุ่น pm 2.5 มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจประชาชน โดยเฉพาะคนชรา และผู้ป่วยติดเตียง