ม.อุบลฯ โชว์…ผลงานมหกรรมนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคตขับเคลื่อน 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เนื่องในโอกาสพิเศษครบรอบ 31 ปี สถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีวันนี้ ทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สนับสนุนการจัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต” ภายใต้โครงการการพัฒนาแมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และการพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลงเพื่อขับเคลื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) โดยมี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นประธาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเป็นอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการสร้างอาชีพและแหล่งรายได้แหล่งใหม่แก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเพาะเลี้ยงแมลง และผลักดันให้แมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและผลักดันให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ จากการเพาะเลี้ยงและวิจัยแมลง สำหรับกิจกรรมภายในงานช่วงเช้าเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการและการออกบูธผลงานของนักวิจัยและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเกี่ยวกับการเลี้ยงจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร และการเสวนา หัวข้อ “การเลี้ยงจิ้งหรีด ยากหรือง่าย จากใจคนเลี้ยงจริง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักวิจัยฯ พร้อมตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอภิปรายระดมความคิดเห็นร่วมกัน ณ อาคารศาลาเรือนไทย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต”วันนี้ เป็นโอกาสที่ดีและพิเศษสุดเนื่องจากเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครบรอบ 31 ปี แห่งการก่อตั้ง และมีมุ่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของชุมชุน เพื่อเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน” ในอนาคต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นสวนหนึ่งของการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีการกำหนดทิศทางของงานวิจัยและบริการวิชาการให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของชาติ เพื่อสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ชุมชนและสังคม ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขความยากจน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับ “จิ้งหรีด” เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งโปรตีนจากแมลงในโครงการการบูรณาการความรู้สู่ชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยอาศัยคณะทำงานที่ประกอบด้วยคณะเกษตรศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ โดยในระยะเริ่มต้น มีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นรายได้เสริมเข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ราย กระจายในพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี คิดบ่อเลี้ยงรวมจำนวน 20 บ่อ การดำเนินงานเริ่มจากการวางแผนจัดทำโครงการผ่านการระดมความคิดเห็นหาแนวทางและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการสร้างอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน แก้ไขปัญหาของชุมชน เสริมสร้างทักษะการเลี้ยงจิ้งหรีดและการแก้ปัญหาโรคระบาดและสุขลักษณะที่ดีในการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในขณะนั้นมีรายได้เสริมครัวเรือนละประมาณ 5,000.- บาท/เดือน
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการการพัฒนาแมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และการพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลงเพื่อขับเคลื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) ดำเนินโครงการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญและอุบลราชธานี และมีโครงการวิจัยย่อยภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการวิจัยย่อยที่ 1 โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์โปรตีนจากแมลงในการเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่สำหรับการบริโภค เพื่อความเป็นเลิศและยั่งยืนโครงการวิจัยย่อยที่ 2 โครงการ การศึกษาสายพันธุ์จิ้งหรีด พัฒนามาตรฐานและกระบวนการเพาะเลี้ยงตลอดจนสร้างฐานข้อมูลสายพันธุ์จิ้งหรีดเพื่อรวบรวมประชากรจิ้งหรีดที่ให้โปรตีนสูง และโครงการวิจัยย่อยที่ 3 โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งโครงการดังกล่าวมีแผนการดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 โดยมีผลการดำเนินงานเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถสร้างนวัตกรรมจิ้งหรีดแปรรูปต่าง ๆ เช่น โปรตีนสกัด เป็นต้น และยังสามารถพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงจิ้งหรีดโดยการใช้พืชในท้องถิ่นที่มีโปรตีนสูงทดแทนแหล่งโปรตีนจากปลาป่นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่หายากและมีราคาแพงในการผลิตอาหารเพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนตามเกณฑ์ที่กำหนด และยังสามารถสร้างฟาร์มอัจฉริยะต้นแบบ (Smart Farm) สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดและระบบการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบมาตรฐาน GAP พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจำนวน 754 ราย และการจัดงานครั้งนี้ เป็นการนำผลงานการดำเนินงานบางส่วนมาจัดแสดงและเผยแพร่เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นที่แพร่หลายและเป็นอาชีพใหม่แก่เกษตรกรให้กว้างขวางขึ้นในอนาคต โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์