ขอนแก่น-นศ.วิศวะฯ มข.สร้างชื่อ ใช้ AI สร้าง “เครื่องคัดแยกพลาสม่า” เครื่องแรกของโลก

จากผลงานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สร้าง “เครื่องคัดแยกพลาสม่า” ได้ถูกนำไปร่วมแข่งขันแบบออนไลน์ ในงาน The 2nd New Southbound Innovation and Entrepreneurship Competition ซึ่งมหาวิทยาลัยเฉิงคุง ประเทศไต้หวัน National Cheng Kung University, Tainan City, Taiwan  ได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น  โดยเป็นผลงาน 1 ใน 2 ของนักศึกษาจากประเทศไทย เข้าร่วมชิงชัยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วเอเชีย โดยจัดแข่งขันเมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา  สามารถคว้ารางวัลชมเชยมาครอบครองได้เป็นผลสำเร็จ

             นายพงษ์พิพัฒน์  พนมเขตร์  และ นายพรบัญชา  ต้นจันทร์  นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานกับสำนักเทคโนโลยี ดิจิทัลประกอบด้วย นายวณัช พาดี, นายอนุพงษ์ ติตะ, นายคมสัน สายัณห์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับคลังเลือดกลาง โดยการนำของ รศ. นพ.เกรียงศักดิ์  เจนวิถีสุข  ผู้อำนวยการคลังเลือดกลาง  ผู้คิดค้น “เครื่องคัดแยกพลาสม่า PlasmaX”  อันนำไปสู่การแก้ปัญหาการคัดแยกถุงพลาสม่าของคลังเลือดกลาง โรงพยาบาลศรินครินทร์  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดย นายพงษ์พิพัฒน์  พนมเขตร์  และนายพรบัญชา  ต้นจันทร์  ได้เลือกทำเป็นโครงการในการศึกษาชั้นปีสุดท้าย ภายใต้การควบคุมของ อาจารย์ที่ปรึกษา  รศ.ดร. วนิดา  แก่นอากาศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  และอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ผศ. อนัตต์  เจ่าสกุล และ อ.ดร. วาธิส  ลีลาภัทร  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม   นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการสนับสนุนภารกิจสำคัญในการรักษาผู้ป่วยระดับวิกฤติที่ต้องการใช้เลือดในการผ่าตัด

               พงษ์พิพัฒน์  พนมเขตร์ กล่าวว่า  “เครื่องคัดแยกพลาสม่า PlasmaX”  ที่ทำเป็นโปรเจคท์จบการศึกษาของทีม  ได้แนวคิดมาจากการทราบปัญหาของคลังเลือดกลาง  โรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ในเรื่องการคัดแยกถุงพลาสม่า  หรือถุงน้ำเหลือง  ซึ่งก็คือถุงบรรจุเลือดที่รับบริจาคเลือดมา  โดยคลังเลือดกลางจะต้องนำไปเข้ากระบวนการปั่น ในเครื่องปั่น (Centrifugator) เพื่อแยกส่วนประกอบ 3 อย่างที่อยู่ภายในเลือด ได้แก่  เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell), เกล็ดเลือด (Platelets) และ น้ำเหลืองหรือพลาสม่า (Plasma) เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ในส่วนเฉพาะที่ผู้ป่วยขาดหรือต้องการ  จากนั้น  เจ้าหน้าที่จะทำการคัดแยกน้ำเหลือง (Plasma) โดยใช้วิธีเปรียบเทียบสีในถุงพลาสม่ากับตัวอย่างแถบสี ซึ่งอ้างอิงจากมาตรฐานประเทศแคนาดา  ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาด ไม่แม่นยำ และใช้เวลานานในคัดแยก เนื่องจากพลาสม่ามีสีที่คล้ายคลึงกันมาก  จึงอาจทำให้มีการผิดพลาดได้  มีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีสีชัดเจนจนสามารถคัดแยกได้ด้วยตาเปล่า  จึงเป็นแนวคิดในการที่จะสร้างเครื่องยนต์ ทำการประมวลด้วยผลภาพ (Image Processing) และการคัดแยกสี (Color Detecting) มาใช้ในกระบวนการคัดแยกพลาสม่า ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำถึง 95%”

             พงษ์พิพัฒน์  กล่าวถึงผลงานการสร้างเครื่องแยกพลาสม่าต้นแบบที่สามารถนำไปใช้ได้จริงนั้น  ได้นำโครงงาน “PlasmaX”  เข้าร่วมการแข่งขัน Innovative Entrepreneur Pitching ในรายวิชา GE363879 INNOVATIVE ENTREPRENEURS ซึ่งเป็นการแข่งขันของผู้ระกอบการของด้านเทคโนโลยี โดยผลการแข่งขันโครงงานของ PlasmaX ได้อันดับที่ 4  จากนั้น จึงได้จัดทีมประกอบด้วย นายพงษ์พิพัฒน์  พนมเขตร์   นายพรบัญชา  ต้นจันทร์  นายภูรินทร์  จันทร์ใบ  และนายธนวรรธ  สงขาว  เข้าร่วมการแข่งขัน The 2nd New Southbound Innovation and Entrepreneurship Online Competition ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบออนไลน์  ซึ่ง The National Cheng Kung University (NCKU), Taiwan  จัดขึ้น  โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยี กล่าวว่า  ‘ยังไม่เคยเห็นใคร จากหน่วยงานใดนำเรื่อง AI หรือว่าปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับทางด้านการตรวจจับ Plasma พบว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่แรกที่นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับการคัดแยก Plasma’  ซึ่งสร้างความแปลกใจและภูมิใจต่อทุกคนในทีมของเราเป็นอย่างมาก  และผลงานของเราได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ  และได้รับรางวัลชมเชย พร้อมเกียรติบัตรมาครอบครอง”

           พรบัญชา  ต้นจันทร์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ขั้นตอนในการทำโครงการใช้เวลารวมทั้งสิ้น 8 เดือน  ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน   แล้วนำมาออกแบบระบบคัดแยกและลำเลียงและตรวจสอบคุณภาพด้วยภาพถ่าย  จากนั้นได้มีการพัฒนาโปรแกรมตรวจสอบคุณภาพเกล็ดเลือดจากเลือดด้วยภาพถ่ายเปรียบเทียบคุณภาพกับผู้เชี่ยวชาญ ได้มีการแก้ปัญหาในทุกจุด จนนำไปสู่การทดสอบระบบและปรับปรุงระบบให้พร้อมใช้งาน จากนั้นจึงได้จัดทำรายงานเป็นขั้นตอนสุดท้าย”

               นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ที่มีนักศึกษามีความสามารถในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการสร้างเครื่องคัดแยกพลาสม่า เป็นการคิดค้นแบบไม่หวังผลเชิงพาณิชย์  โดยมีเป้าหมายของการแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือสังคมส่วนรวม ซึ่งไม่ตรงนักกับเป้าหมายของการจัดการแข่งขันที่มุ่งไปทางเฟ้นหาผู้ประกอบการ Startup หน้าใหม่จาก Innovation แต่นักศึกษากลุ่มนี้ยังวางเป้าหมายต่อไป โดยจะพัฒนาซอฟท์แวร์ให้สามารถสร้างธุรกิจจากนวัตกรรมในแนวทางด้านการเกษตรต่อไป

ข่าว/ภาพ   :   วัชรา  น้อยชมภู