ขอนแก่น-สำนักงานชลประทานที่ 6 เดินหน้าเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2564 ลุ่มน้ำยัง

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนพฤษภาคมจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน โดยคาดการณ์ว่าปริมาณฝนในปีนี้จะเทียบเคียงเท่ากับปริมาณฝนในปี 2551 ซึ่งถือว่ามีเกณฑ์ฝนตกค่อนข้างมากปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำยังซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก สาเหตุเกิดจากช่วงต้นของลำน้ำยังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะกว้างและลาดชันมาก ส่วนช่วงท้ายก่อนบรรจบกับลำน้ำชีในเขต อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะแคบลงและคดเคี้ยว จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประจำเกือบทุกปี เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จากการลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่าอาคารชลประทานและประตูระบายน้ำอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน งานก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยในลุ่มน้ำยังก็คืบหน้าไปมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จทันรับมือช่วงน้ำหลาก นอกจากนี้ยังได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจบูรณาการป้องกันอุทกภัยลุ่มน้ำยัง เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์ ป้องกันและให้ความช่วยเหลือประชาชนหากเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำยัง
นายศักดิ์ศิริฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยังตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตามมาตรการของกรมชลประทาน โดยการควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างฯ รวมไปถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ, รถขุด, Sheet Pile, กระสอบทรายและเครื่องจักรต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่ให้เพียงพอ และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ที่สำคัญยังได้กำหนดแผนเผชิญเหตุกรณีที่เกิดน้ำหลากในลุ่มน้ำยังโดยกำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยังเป็นพื้นที่หน่วงน้ำตัดยอดน้ำหลากเก็บกักในแก้มลิง 3 แห่ง ได้แก่ บึงบ่อแก บึงเกลือ และกุดปลาคูณ ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำรวมประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางแผนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ก่อนน้ำมา แผนเผชิญเหตุในภาวะฉุกเฉิน และมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำยังไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย

ข่าว-ภาพ กัมพล ดวงชิน