ขอนแก่น–เสริมพลังมวลชนด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุกตลอดทั้งปี นำแกนนำชมรมกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.หวังแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตในพื้นที่

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เสริมพลังมวลชนด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดขอนแก่น โดยจัดคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดขอนแก่น แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น มีนายสมพงษ์ เข็มเหล็ก หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงาน กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยประธานชมรมกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และคณะทำงาน(อสม.)ระดับอำเภอ ทุกอำเภอๆ ละ 4 คน รวม 104 คน

นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้จัดประชุมสรุปถอดบทเรียนผลการดำเนินงานรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 คณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดด้านบังคับใช้กฎหมาย และคณะอนุกรรมการประชาคมลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดขอนแก่น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้สำนักงาน ปภ.จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น จัดทำกรอบแนวทางปฏิบัติด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก ในช่วงก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 อันใกล้จะถึงนี้ และตลอดทั้งปี

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเฝ้าระวังป้องกันการเกิดอุบัติภัยอื่นๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ และช่วงภาวะปกติ รวมทั้งสร้างเสริมพลังแนวร่วม แกนนำ จิตอาสา อาสาสมัครต่างๆ ให้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนแผนงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน

การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนนี้ มุ่งเป้าสู่การขับเคลื่อนกลไกคณะทำงานและแกนนำในระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ให้เกิดการร่วมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจบูรณาการร่วมกันอย่างเข็มแข็งและจริงจัง มีความคาดหวังว่า จะเกิดกระบวนการขับเคลื่อนกลไกการจัดการในเชิงรุก โดยบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนในพื้นที่ของ 26 อำเภอ อย่างชัดเจน และส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตในพื้นที่ลดลง ให้เหลือน้อยที่สุด ในระยะต่อไป.

ไพฑูรย์ พรหมเทศ ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ จ.ขอนแก่น