เขื่อนอุบลรัตน์ทำการปิดสปิลเวย์ ลดปริมาณการระบายน้ำลงแล้ว แต่ยังคงมีน้ำเกินความจุอยู่ที่ 104 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทางประมงได้ลงเก็บพันธุ์ปลาหายาก เพื่ออนุรักษ์พร้อมกับปล่อยปลาคืนกลับลำน้ำพอง
18 พ.ย. 65 ที่บริเวณประตูระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(เขื่อนอุบลรัตน์) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำการกดปุ่มปิดสวิตช์บานประตูระบายน้ำสปิลเวย์ เพื่อทำการปิดประตูทุกบานหลังมีการบริหารจัดการน้ำปรับเพิ่มการระบายน้ำในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา และขณะนี้สถานการณ์ภัยธรรมชาติจากพายุได้ผ่านพ้นไปแล้ว และเข้าสู่การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยเฉพาะริมแม่น้ำพองที่ปริมาณน้ำในเขื่อนได้ปล่อยมาหนุนจนเอ่อล้นท่วมเข้าบ้านเรือนในหลายอำเภอของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งหลังจากทำการปิดสปิลเวย์แล้วการระบายน้ำจะกลับสู่ปกติโดยการระบายผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะระบายน้ำอยู่ที่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ในวันพรุ่งนี้จะระบายคงที่อยู่ที่วันละ 15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ขณะนี้ อยู่ที่ 2,532 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยังคงเกินความจุอ่างอยู่ที่ 104 เปอร์เซ็นต์ โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างวันละ 7.55 ล้าน ลบ.ม.
นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(เขื่อนอุบลรัตน์) กล่าวว่า ภายหลังจากสถานการณ์พายุผ่านพ้นไปแล้ว ปริมาณน้ำก็ลดลงต่อเนื่อง และการระบายน้ำสามารถปรับลดการระบายผ่านช่องทางสปิลเวย์ลงมาอย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดสามารถปิดบานประตูระบายน้ำสปิลเวย์ได้แล้วในวันนี้ และจะเป็นการระบายน้ำผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าตามปกติ โดยเป็นการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม.และวันพรุ่งนี้เป็นต้นไปจะระบายคงที่อยู่ที่วันละ 15 ล้าน ลบ.ม.ตามปกติ ซึ่งการระบายน้ำลงน้ำจะต้องค่อยๆปรับเพิ่มและลดลงเพื่อไม่ให้ตลิ่งเกิดการทรุดตัวจนเกิดความเสียหาย
ขณะเดียวกันทางเจ้าหน้าที่ประมงได้ลงพื้นที่สำรวจหาพันธุ์ปลาหายาก บริเวณท้ายประตูระบายน้ำที่ทำการปิด ซึ่งพบว่ามีปลาหลากหลายสายพันธุ์และหลายขนาดอยู่ในน้ำ โดยได้มีการประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วห้ามชาวบ้านเข้ามาจับปลาโดยเด็ดขาด เนื่องจากทุกๆครั้งที่มีการปิดประตูสปิลเวย์จะมีปลาจำนวนมากค้างในน้ำและชาวบ้านจะพากันเข้ามาจับ แต่ปัจจุบันไม่สามารถเข้ามาจับได้แล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ประมงจะทำการสำรวจหาปลาสายพันธุ์หายากไปปล่อยคืนสู่ถิ่นน้ำตามธรรมชาติ โดยในวันนี้เบื้องต้นจากการสำรวจพบว่า มีปลาหลายสายพันธุ์ ทั้ง ปลาสร้อยขาวซึ่งพบเยอะกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ปลาหมู ปลาปักเป้า ปลาลิ้นหมา ปลาสวายนกเขา ปลาแขยง ปลากระทิง ปู และอีกหลายสายพันธุ์ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจของทางเจ้าหน้าที่ประมง และปลาที่จับได้ใหญ่ที่สุด คือปลากดคังมีน้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจวัดและชั่งน้ำหนักปลา ก่อนที่เตรียมจะย้ายไปปล่อยบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ต่อไป เนื่องจากปลากดคังน้ำหนักเกือบ 20 กิโลกรัม จะหาได้ยากตามธรรมชาติ.