ศรีสะเกษ – พ่อเมืองดอกลำดวน ห่วงใยชาวบ้านติดตามสถานการณ์น้ำท่าไม่เว้นวัน สั่งทุกหน่วยงานพร้อมช่วยเหลือประชาชน

 


เมื่อเร็วๆนี้ ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (เขื่อนราษีไศล) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ นายอำเภอราษีไศล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (เขื่อนราษีไศล) ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์การระบายน้ำลำน้ำมูล ซึ่งการระบายน้ำยังคงไหลได้ต่อเนื่อง


จากการตรวจติดตามพบว่าเขื่อนราษีไศล มีระดับน้ำอยู่ที่ +119.01 ม(รทก.) และมีปริมาณน้ำทั้งหมดอยู่ที่ 74.576 (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 100.16% (ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 ก.ย.) เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน +0.10 (ม.) ซึ่งปัจจุบันเขื่อนราษีไศล ได้ยกบานระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (9 ก.ย.) เขื่อนราษีไศล ได้ยกบานระบายพ้นน้ำทั้ง 7 บาน เพื่อเร่งการระบายน้ำ ซึ่งการระบายน้ำท้ายเขื่อน ไปที่สะพานราษีไศล และเขื่อนหัวนา ยังระบายได้อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง (เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา) รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 16 แห่ง และลุ่มน้ำต่างๆ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 16 แห่ง เก็บกักเกิน 100 เปอร์เซ็น จำนวน 10 แห่ง ยังคงมีความปลอดภัยและอยู่ในศักยภาพอ่างเก็บน้ำที่จะรองรับน้ำได้ และมีการพร่องน้ำไปด้านท้ายน้ำ โดยไม่เกิดน้ำท่วมขังแต่อย่างใด ส่วนลุ่มน้ำต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ยังคงอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง โดยมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อย ไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด


ทั้งนี้ ลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ จ.บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จุดวัดระดับน้ำ M ต่างๆ ยังคงอยู่ในตลิ่ง แต่มีอัตราการเพิ่มขึ้น และ M7 ที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีความใกล้เคียงกับกับตลิ่ง อย่างไรก็มีความเสี่ยงอยู่ที่บริเวณแม่น้ำมูล เนื่องจากเป็นจุดศูนย์รวมของน้ำ จาก จ.นครราชสีมา ผ่าน จ.บุรีรัมย์, สุรินทร์และเข้าสู่ จ.ศรีสะเกษ ประกอบกับด้านท้ายเขื่อนหัวนา ซึ่งอยู่ใกล้ จ.อุบลราชธานี มีแม่น้ำชี เข้ามาบรรจบแม่น้ำมูล ส่งผลทำให้การระบายน้ำในแม่น้ำมูล ช้าลง ดังนั้นอาจจะมีน้ำท่วมขังพื้นที่ราษฎร บริเวณแม่น้ำมูลทั้งสองฝั่ง จึงขอให้เฝ้าระวังบริเวณสองฝั่ง แม่น้ำมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป


ขณะที่ นายพีระพงศ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงาน ปภ. จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ได้ติดตามปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ประจำวันที่ 10 ก.ย. พบว่า ปริมาณน้ำฝนสูงสุด (วันที่ 9 ก.ย.65) อยู่ที่ อ.ไพรบึง 10 มม. ขณะที่ปริมาณฝนสะสม ช่วงวันที่ 1-9 ก.ย. ที่ผ่านมา สูงสุดที่ อ.ภูสิงห์ 170.2 มม. ซึ่งยังไม่มีพื้นที่ฝนตกหนักเกิน 100 มม. ติดต่อกันในพื้นที่แต่อย่างใด ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ฝนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และจังหวัดข้างเคียงลดลง

พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา  ศรีสะเกษ //รายงาน